จิญจมาณวิกาวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > โลกวรรค)

จิญจมาณวิกาวัตถุ  (เรื่องนางจิญจมาณวิกา)

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย  ดังนี้ว่า
       "บุคคลผู้ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้มักกล่าวเท็จ  ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาป  ไม่มี"

จิญจมาณวิกาวัตถุ  จบ


อรรถกถา
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
ทรงปรารภนางจิญจมาณวิกา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า


[ พวกเดียรถีย์ริษยาพระพุทธศาสนา ]
ในปฐมโพธิกาล  เมื่อสาวกของพระทศพลมีมากหาประมาณมิได้  เมื่อพวกเทวดาและมนุษย์หยั่งลงสู่อริยภูมิ  เมื่อการเกิดขึ้นแห่งพระคุณของพระศาสดาแผ่ไปแล้ว  ลาภสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้นแล้ว  พวกเดียรถีย์ก็กลายเป็นผู้เช่นกับแสงหิ่งห้อยในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น  เป็นผู้เสื่อมจากลาภสักการะแล้ว

พวกเดียรถีย์เหล่านั้นยืนประกาศต่อหมู่ชนว่า
"พระสมณโคดมเท่านั้นหรือเป็นพระพุทธเจ้า  แม้พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้า
ทานที่ให้แล้วแก่พระสมณโคดมเท่านั้นหรือมีผลมาก  ทานที่ให้แล้วแม้แก่เราทั้งหลายก็มีผลมากเหมือนกัน
ท่านทั้งหลาย  จงให้  จงทำ  แก่เราทั้งหลายบ้าง"
แต่แม้กระนั้น  ก็ยังไม่ได้ลาภสักการะจากคนทั้งหลาย

พวกเดียรถีย์เหล่านั้นประชุมกันในที่ลับว่า  "พวกเราพึงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม  พึงยังลาภสักการะให้ฉิบหายโดยอุบายอะไรหนอแล"

กาลนั้น  ในกรุงสาวัตถี  มีนางปริพาชิกาคนหนึ่ง  ชื่อว่าจิญจมาณวิกา  เป็นผู้ทรงรูปอันเลอโฉม  ถึงความเลิศด้วยความงาม  เหมือนนางเทพอัปสรฉะนั้น  รัศมีย่อมเปล่งออกจากสรีระของนางนั้น

ลำดับนั้น  เดียรถีย์ผู้มีความรู้เฉียบแหลมคนหนึ่งกล่าวว่า  "เราทั้งหลายอาศัยนางจิญจมาณวิกา  แล้วยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม  ยังลาภสักการะของพระสมณโคดมให้ฉิบหายได้"

เดียรถีย์เหล่าอื่นเห็นดีด้วยว่า  "อุบายนี้ดีอยู่"


[ นางจิญจมาณวิการับอาสาพวกเดียรถีย์ ]
ต่อมา  นางจิญจมาณวิกานั้นไปสู่อารามของเดียรถีย์  ไหว้แล้วได้ยืนอยู่  พวกเดียรถีย์ไม่พูดกับนาง  นางจึงคิดว่า  "เรามีโทษอะไรหนอแล"  แม้พูดครั้งที่ ๒  ครั้งที่ ๓ ว่า  "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย  ดิฉันไหว้"  ดังนี้แล้วจึงพูดว่า  "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย  ดิฉันมีโทษอะไรหนอแล  เพราะเหตุไร  ท่านทั้งหลายจึงไม่พูดกับดิฉัน"

เดียรถีย์  "น้องหญิง  เจ้าไม่ทราบเรื่องที่พระสมณโคดมเบียดเบียนเราทั้งหลาย  เที่ยวทำเราทั้งหลายให้เสื่อมลาภสักการะหรือ"

นางจิญจมาณวิกา  "ดิฉันยังไม่ทราบเจ้าข้า  ก็ในเรื่องนี้ดิฉันควรทำอย่างไรเล่า"

เดียรถีย์  "น้องหญิง  ถ้าเจ้าปรารถนาความสุขแก่เราทั้งหลายไซร้  จงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม  แล้วยังลาภสักการะให้ฉิบหายเพราะอาศัยตน"

นางกล่าวว่า  "ดีละ  พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย  ข้อนี้จงเป็นภาระของดิฉันเอง"

ต่อมา  นางห่มผ้ามีสีดุจแมลงค่อมทอง  มีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นในมือ  มุ่งหน้าตรงพระเชตวัน  ไปอยู่ในสมัยเป็นที่ฟังธรรมกถาแห่งชนชาวเมืองสาวัตถี  กำลังกลับออกจากพระเชตวัน

เพราะความที่นางเป็นผู้ฉลาดในมารยาของหญิง  เมื่อมีผู้ถามว่า  "นางจะไปไหนในเวลานี้"  จึงกล่าวว่า  "ประโยชน์อะไรของท่านทั้งหลายด้วยที่ที่เราไป"  เดินสวนกับหมู่ชนเข้าไปยังพระเชตวัน  แล้วเลี่ยงไปพักอยู่ในสำนักของเดียรถีย์ในที่ใกล้พระเชตวัน

รุ่งเช้า  เมื่อเหล่าอุบาสกออกจากพระนครแต่เช้าตรู่  ไปยังสำนักพระศาสดาด้วยหวังว่า  "จักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า"  นางก็ทำทีเหมือนออกจากพระเชตวัน  เดินสวนทางเข้าไปสู่พระนคร  เมื่อคนทั้งหลายถามว่า  "ท่านอยู่  ณ  ที่ไหน"  นางจึงกล่าวว่า  "ประโยชน์อะไรของท่านทั้งหลายด้วยที่ที่เราอยู่"

นางประพฤติอย่างนี้ทุกวัน  โดยกาลล่วงไป ๑ - ๒ เดือน  เมื่อถูกถาม  จึงกล่าวว่า  "เราอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดมในพระเชตวัน"  ยังความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่ปุถุชนทั้งหลายว่า  "ข้อนั้นจริงหรือไม่หนอ"

โดยกาลล่วงไป ๓ - ๔ เดือน  นางเอาท่อนผ้าพันท้อง  แสดงเพศของหญิงมีครรภ์ให้เหล่าชนคิดเอาว่า  "ครรภ์บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยพระสมณโคดม"

โดยกาลล่วงไป ๘ - ๙ เดือน  นางผูกไม้กลมไว้ที่ท้อง  ห่มผ้าทับข้างบน  ทุบหลังมือและเท้าด้วยไม้คางโค  แสดงอาการบวมขึ้น  มีอินทรีย์บอบช้ำ

ครั้งนั้น  เมื่อพระตถาคตประทับนั่งแสดงธรรมบนธรรมาสน์ที่ประดับแล้วในเวลาเย็น  นางไปสู่ธรรมสภา  ยืนตรงพระพักตร์ของพระตถาคตแล้ว  กล่าวว่า
"มหาสมณะ  พระองค์ดีแต่แสดงธรรมแก่มหาชนเท่านั้น  เสียงของพระองค์ไพเราะ  พระโอษฐ์ของพระองค์สนิท
ส่วนหม่อมฉันอาศัยพระองค์ได้เกิดมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว  พระองค์ไม่ทรงทราบเรือนเป็นที่คลอดของหม่อมฉัน  ไม่ทรงทราบเครื่องครรภบริหารมีเนยใสและน้ำมันเป็นต้น
เมื่อไม่ทรงทำเอง  เหตุใดไม่ตรัสบอกพระเจ้าโกศล  หรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี  หรือนางวิสาขามหาอุบาสิกา  คนใดคนหนึ่ง  หรือแม้บรรดาอุปัฏฐากทั้งหลายว่า  'ท่านจงทำกิจที่ควรทำแก่นางจิญจมาณวิกานี้'
พระองค์ทรงรู้แต่จะอภิรมย์เท่านั้น  ไม่ทรงรู้ครรภบริหาร"
นางเหมือนพยายามจับก้อนคูถปาพระจันทร์  ด่าพระตถาคตในท่ามกลางบริษัทแล้ว

พระตถาคตทรงงดธรรมกถาแล้ว  เมื่อจะทรงบันลือเยี่ยงอย่างสีหะ  จึงตรัสว่า  "น้องหญิง  ความที่คำอันเจ้ากล่าวแล้ว  จะจริงหรือไม่  เราและเจ้าเท่านั้นย่อมรู้"

นางจิญจมาณวิกา  "อย่างนั้น  มหาสมณะ  ข้อนั้นเกิดแล้วโดยความที่ท่านและหม่อมฉันทราบแล้ว"


[ เทพบุตรทำลายอุบายของนางจิญจมาณวิกา ]
ขณะนั้น  อาสนะของท้าวสักกะ (พระอินทร์) แสดงอาการร้อน  ท้าวเธอทรงใคร่ครวญอยู่  ก็ทราบว่า  "นางจิญจมาณวิกาด่าพระตถาคตด้วยคำไม่เป็นจริง"  แล้วทรงดำริว่า  "เราจักชำระเรื่องนี้ให้หมดจด"  จึงเสด็จไปยังพระเชตวันกับเทพบุตร ๔ องค์

เทพบุตรทั้งหลายแปลงเป็นลูกหนูกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้กลม  ด้วยการแทะทีเดียวเท่านั้น  บันดาลลมพัดเวิกผ้าห่มขึ้น  ไม้กลมพลัดตกลงบนหลังเท้าของนางจิญจมาณวิกานั้น  ปลายเท้าทั้ง ๒ ข้างแตกแล้ว

มนุษย์ทั้งหลายเห็นสภาพนั้นแล้ว  พูดว่า  "แน่ะนางกาลกิณี  เจ้าด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"  แล้วพากันถ่มเขฬะลงบนศีรษะของนาง  ต่างถือก้อนดินและท่อนไม้ทุบตี  ฉุดลากนางออกจากพระเชตวัน

ครั้นในเวลานางล่วงคลองพระเนตรของพระตถาคตไป  แผ่นดินใหญ่แตกแยกช่องให้แล้ว  เปลวไฟตั้งขึ้นจากอเวจี  นางจิญจมาณวิกานั้นไปเกิดในอเวจี

ลาภสักการะของพวกเดียรถีย์เสื่อมยิ่งขึ้น  แต่กลับเจริญแก่พระทศพลโดยประมาณยิ่ง


[ พระศาสดาตรัสมหาปทุมชาดก ]
ในวันรุ่งขึ้น  พวกภิกษุสนทนากันในธรรมสภาว่า  "ผู้มีอายุทั้งหลาย  นางจิญจมาณวิกาด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ควรทักษิณาอันเลิศ  ผู้มีคุณอันยิ่งอย่างนี้  ด้วยคำไม่จริง  จึงถึงความพินาศใหญ่แล้ว"

พระศาสดาเสด็จมา  ตรัสถามว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า  "ด้วยถ้อยคำเรื่องนี้"

พระศาสดาตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  ใช่เพียงแต่บัดนี้เท่านั้น  แม้ในกาลก่อน  นางจิญจมาณวิกานั้นก็ด่าเราด้วยคำไม่จริง  ถึงความพินาศแล้วเหมือนกัน"
ดังนี้แล้ว  จึงตรัสมหาปทุมชาดก


[ พระโพธิสัตว์ถูกทิ้งลงเหวแต่ไม่ตาย ]
ได้ยินว่า  ในกาลนั้น  พระโพธิสัตว์ทรงพระนามว่า  มหาปทุมกุมาร
นางจิญจมาณวิกานั้นเป็นผู้ร่วมสามีของพระมารดาของพระโพธิสัตว์  เป็นอัครมเหสีของพระราชา  เชิญชวนพระโพธิสัตว์ด้วยอสัทธรรม (เสพเมถุนธรรม)  พระโพธิสัตว์ไม่ยินยอม  นางจึงทำประการแปลกในตนด้วยตนเอง  แสดงอาการลวงว่าเป็นไข้  กราบทูลแด่พระราชาว่า  "พระราชโอรสของพระองค์  ยังหม่อมฉันผู้ไม่ปรารถนาอยู่  ให้ถึงประการแปลกนี้"
พระราชากริ้ว  รับสั่งให้นำพระโพธิสัตว์ไปทิ้งในเหวเป็นที่ทิ้งโจร

ลำดับนั้น  เทวดาผู้สิงอยู่ที่หุบเขาได้เข้ามารับพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว  ให้ประดิษฐานอยู่ในห้องพังพานของพระยานาค
พระยานาคนำพระโพธิสัตว์นั้นไปสู่ภพนาค  ทรงรับรองด้วยราชสมบัติกึ่งหนึ่ง
พระโพธิสัตว์อยู่ในภพนาคนั้นสิ้นปีหนึ่ง  ใคร่จะบวช  จึงมาสู่หิมวันตประเทศ  บวชแล้ว  ให้ฌานและอภิญญาบังเกิดแล้ว


[ พระโพธิสัตว์ถวายพระโอวาทแก่พระราชา ]
ต่อมา  พรานไพรผู้หนึ่งเห็นพระโพธิสัตว์นั้น  จำได้  จึงกราบทูลแด่พระราชา
พระราชาเสด็จไปสู่สำนักของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว  มีปฏิสันถารอันพระโพธิสัตว์ทำแล้ว  ทรงทราบความจริงในอดีตทั้งหมด  จึงทรงเชื้อเชิญพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ

พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทว่า  "กิจด้วยราชสมบัติของหม่อมฉันไม่มี  ก็พระองค์จงอย่าให้ราชธรรม ๑๐ ประการกำเริบ  ทรงละการถึงอคติเสีย  แล้วเสวยราชสมบัติโดยธรรมเถิด"

ดังนี้แล้ว  พระราชาเสด็จลุกจากอาสนะ  ทรงกันแสง  เสด็จไปสู่พระนคร  ตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายในระหว่างหนทางว่า  "เราถึงความพลัดพรากจากบุตรซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระอย่างนี้เพราะอาศัยใคร"

อำมาตย์กราบทูลว่า  "เพราะอาศัยพระอัครมเหสี  พระเจ้าข้า"

พระราชารับสั่งให้จับพระอัครมเหสีนั้นให้มีเท้าขึ้นแล้ว  ทิ้งไปในเหวที่ทิ้งโจร  เสด็จเข้าไปสู่พระนคร  เสวยราชสมบัติโดยธรรม

หญิงร่วมสามีของพระมารดาในกาลนั้น  ได้มาเป็นนางจิญจมาณวิกาในกาลนี้
มหาปทุมกุมาร  ได้มาเป็นเราตถาคต"

พระศาสดาครั้นทรงประกาศเนื้อความนี้แล้ว  ตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  ก็ขึ้นชื่อว่าบาปกรรมอันบุคคลผู้ละคำสัตย์ซึ่งเป็นธรรมอย่างเอกแล้ว  ตั้งอยู่ในมุสาวาท  ผู้ปฏิเสธปรโลกแล้ว  ไม่พึงทำ  ย่อมไม่มี"

ดังนี้แล้ว  จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
       "บุคคลผู้ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้มักกล่าวเท็จ  ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาป  ไม่มี"

ในกาลจบพระธรรมเทศนา  ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น  ดังนี้แล

บทความที่เกี่ยวข้อง
๑. ขอความเป็นธรรมให้ฉันด้วย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)