อานันทเสฏฐิวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > พาลวรรค)


อานันทเสฏฐิวัตถุ  (เรื่องอานนทเศรษฐี)

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีชื่อมูลสิริ  บุตรของอานนทเศรษฐี  ดังนี้ว่า
       "คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า  'เรามีบุตร  เรามีทรัพย์'
แท้จริง  ตัวตนก็ไม่มี  บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน"

อานันทเสฏฐิวัตถุ  จบ


อรรถกถา
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
ทรงปรารภอานนทเศรษฐี  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า


[ อานนทเศรษฐีสั่งสอนบุตรให้ตระหนี่ ]
ได้ยินว่า  ในกรุงสาวัตถี  เศรษฐีชื่ออานนท์  มีสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ  แต่เขาเป็นคนตระหนี่มาก
อานนทเศรษฐีนั้นให้พวกญาติประชุมกันทุกกึ่งเดือน  แล้วกล่าวสอนบุตรของตนผู้ชื่อว่ามูลสิริใน ๓ เวลาอย่างนี้ว่า
"เจ้าอย่าได้ทำความสำคัญว่าทรัพย์ ๔๐ โกฏินี้มาก
เจ้าไม่ควรให้ทรัพย์ที่มีอยู่สิ้นไป  ควรยังทรัพย์ใหม่ให้เกิดขึ้น
เพราะเมื่อบุคคลทำกหาปณะแม้หนึ่ง ๆ ให้เสื่อมไป  ทรัพย์ย่อมสิ้นด้วยเหมือนกัน
เพราะเหตุนั้น  บุคคลผู้ฉลาด  พึงเห็นความสิ้นแห่งยาสำหรับหยอดตา
ความก่อขึ้นแห่งตัวปลวกทั้งหลาย
และการประมวลมาแห่งตัวผึ้งทั้งหลาย  แล้วพึงอยู่ครองเรือน"


[ อานนทเศรษฐีตายไปเกิดในตระกูลคนจัณฑาล ]
ในเวลาต่อมา  อานนทเศรษฐีนั้นไม่บอกขุมทรัพย์ใหญ่ ๕ แห่งของตนแก่บุตร
เพราะทรัพย์เป็นเหตุ  เขาจึงมีความหม่นหมองเพราะมลทินคือความตระหนี่  เขาทำกาละ (ตาย) แล้ว
ถือปฏิสนธิในท้องของหญิงจัณฑาลคนหนึ่งในจำพวกจัณฑาลพันตระกูล  ที่อยู่อาศัยในบ้านใกล้ประตูแห่งหนึ่งแห่งพระนครนั้นนั่นเอง

พระราชาทรงทราบการทำกาละของอานนทเศรษฐีแล้ว  จึงรับสั่งให้เรียกมูลสิริผู้บุตรของเขามา  แล้วทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเศรษฐี

ตระกูลแห่งคนจัณฑาลตั้งพันเหล่านั้น  ทำงานเพื่อค่าจ้างโดยความเป็นพวกเดียวกันเที่ยวเลี้ยงชีวิต
จำเติมแต่กาลถือปฏิสนธิของทารกนั้น  ตระกูลคนจัณฑาลเหล่านั้นก็ไม่ได้ค่าจ้างเลย  ทั้งไม่ได้แม้ก้อนข้าวเกินไปกว่าอาหารพอยังอัตภาพให้เป็นไป

พวกเขากล่าวว่า  "บัดนี้  เราทั้งหลายแม้ทำการงานอยู่  ก็ไม่ได้อาหารแม้สักว่าก้อนข้าว
เป็นไปได้ที่จะมีหญิงกาลกิณีอยู่ในกลุ่มของพวกเรา"

ดังนี้แล้ว  จึงแยกกันออกเป็น ๒ พวกแล้วออกหากิน
กลุ่มที่มีมารดาบิดาของทารกนั้นก็หากินไม่ได้
ก็แยกกลุ่มนั้นออกเป็น ๒ พวกอีก
พวกเขาแบ่งกลุ่มโดยทำนองนี้ไปเรื่อย ๆ
จนสามารถแยกมารดาบิดาของทารกนั้นอยู่ต่างหาก
คิดว่า  "หญิงกาลกิณีเกิดในตระกูลนี้"
แล้วไล่มารดาของทารกนั้นออกจากกลุ่ม

ทารกนั้นยังอยู่ในท้องของหญิงนั้นตราบใด  หญิงนั้นก็ได้อาหารแม้สักว่ายังอัตภาพให้เป็นไปโดยฝืดเคืองตราบนั้น
จนกระทั่งนางคลอดบุตรแล้ว

ทารกนั้นมีมือและเท้า  นัยน์ตา  หู  จมูก  และปาก  ไม่ตั้งอยู่ในที่ตามปกติ
ทารกนั้นประกอบด้วยความพิกลแห่งอวัยวะเห็นปานนั้น  มีรูปน่าเกลียดเหลือเกิน  ดุจปิศาจคลุกฝุ่น

แม้เมื่อเป็นเช่นนี้  มารดาก็ยังไม่ละทิ้งบุตรนั้น
จริงอยู่  มารดาย่อมมีความเยื่อใยเป็นกำลังในบุตรที่อยู่ในท้อง
นางเลี้ยงทารกนั้นอยู่โดยฝืดเคือง
ในวันที่พาเขาไป  ก็จะไม่ได้อะไร ๆ กลับมาเลย
แต่ในวันที่ให้เขาอยู่บ้าน  แล้วไปเองลำพังนั่นแล  จึงได้ค่าจ้าง


[ มารดาปล่อยบุตรไปขอทานเลี้ยงชีพเอง ]
ต่อมา  ในกาลที่เด็กนั้นสามารถเดินหาก้อนข้าวเลี้ยงตัวได้
มารดาได้ให้ถาดกระเบื้องแก่บุตร  แล้วกล่าวว่า
"ลูกเอ๋ย  เพราะอาศัยเจ้าเป็นเหตุ  แม่จึงถึงความลำบากมาก
บัดนี้  แม่ไม่อาจเลี้ยงเจ้าได้
อาหารทั้งหลายที่เขาจัดไว้เพื่อคนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น  มีอยู่ในนครนี้
เจ้าจงเที่ยวไปเพื่อภิกษาในนครนั้นเลี้ยงชีพเถิด"
ดังนี้แล้ว  ปล่อยบุตรนั้นไปหากินเพียงลำพัง

เด็กนั้นเที่ยวไปตามลำดับเรือน  ถึงที่อยู่ของตนในครั้งเป็นอานนทเศรษฐี
เขาระลึกชาติได้  จึงเดินเข้าไปในเรือนนั้

ใคร ๆ ในเรือนไม่ได้สังเกตเขาใน ๓ ซุ้มประตูแรก
ในซุ้มประตูที่ ๔  พวกบุตรของมูลสิริเศรษฐีเห็นเขาแล้ว  มีใจหวาดเสียว  ร้องไห้แล้ว

ลำดับนั้น  พวกคนงานของเศรษฐีกล่าวกับทารกนั้นว่า
"เอ็งจงออกไป  คนกาลกิณี"
พากันโบยเด็กนั้น  แล้วนำออกไปโยนไว้ที่กองหยากเยื่อ


[ พระศาสดาแสดงธรรมแก่มูลสิริเศรษฐี ]
พระศาสดามีพระอานนทเถระเป็นปัจฉาสมณะ  เสด็จบิณฑบาตถึงที่นั้นแล้ว  ทอดพระเนตรดูพระอานนทเถระ
เมื่อพระอานนทเถระทูลถามแล้ว  จึงตรัสบอกพฤติการณ์นั้น

พระอานนทเถระให้เชิญมูลสิริเศรษฐีมา  หมู่มหาชนประชุมกันแล้ว
พระศาสดาตรัสเรียกมูลสิริเศรษฐีมาแล้วตรัสถามว่า  "ท่านรู้จักเด็กนั่นไหม"
มูลสิริเศรษฐีกราบทูลว่า  "ไม่รู้จัก  พระพุทธเจ้าข้า"
พระศาสดาตรัสว่า  "เด็กนั้นคืออานนทเศรษฐี  บิดาของท่าน"
แล้วให้เด็กนั้นบอกขุมทรัพย์  ตรัสว่า  "อานนทเศรษฐี  ท่านจงบอกขุมทรัพย์ใหญ่ ๕ แห่งแก่บุตรของท่าน"
แล้วทรงยังมูลสิริเศรษฐีผู้ไม่เชื่ออยู่นั้นให้เชื่อแล้ว

มูลสิริเศรษฐีนั้นได้ถึงพระศาสดาเป็นสรณะแล้ว

พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่มูลลิริเศรษฐีนั้น  จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
       "คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า  'เรามีบุตร  เรามีทรัพย์'
แท้จริง  ตนเองก็ไม่มีแก่ตน  บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน"

ในกาลจบพระธรรมเทศนา
การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐
พระธรรมเทศนาได้เป็นประโยชน์เเม้เเก่มหาชนผู้มาประชุม  ดังนี้แล

บทความที่เกี่ยวข้อง
๑. มีปัญหาชีวิต  ต้องแก้อย่างไร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)