มหาธนวาณิชวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ปาปวรรค)


มหาธนวาณิชวัตถุ  (เรื่องพ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก)

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย  ดังนี้ว่า
       "บุคคลพึงเว้นกรรมชั่วทั้งหลายเสีย
เหมือนพ่อค้ามีทรัพย์มาก  มีพวกน้อย  เว้นทางอันน่ากลัว
และเหมือนผู้ต้องการจะมีชีวิตอยู่  เว้นยาพิษเสีย  ฉะนั้น"

หาธนวาณิชวัตถุ  จบ


อรรถกถา
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
ทรงปรารภพ่อค้ามีทรัพย์มากคนหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า


[ พ่อค้านิมนต์ภิกษุ ๕๐๐ เดินทางร่วมกัน ]
ได้ยินว่า  มีพวกโจร ๕๐๐ คนแสวงหาช่องทางในเรือนของพ่อค้านั้น  แต่ยังไม่ได้ช่อง

สมัยต่อมา  พ่อค้านั้นบรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่มให้เต็มด้วยสิ่งของแล้ว  ได้เผดียงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
"เราจะไปสู่ที่ชื่อโน้นเพื่อค้าขาย
พระผู้เป็นเจ้าเหล่าใดประสงค์จะไปสู่ที่นั้น  ขอนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นออกไปพร้อมกับเรา  จักไม่ลำบากด้วยภิกษาในหนทาง"
ภิกษุ ๕๐๐ รูปฟังคำนั้นแล้ว  ได้เดินทางไปกับพ่อค้านั้น

โจรเหล่านั้นได้ข่าวว่าพ่อค้านั้นออกไปแล้ว  จึงได้ไปซุ่มอยู่ในดง

ฝ่ายพ่อค้าเดินทางไปแล้วได้ระยะหนึ่ง  จึงพักในที่ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ปากดง  จัดแจงโคและเกวียนเป็นต้น  สิ้น ๒ - ๓ วัน  และถวายภิกษาแก่ภิกษุเหล่านั้นเป็นนิตย์เทียว


[ พวกโจรให้คนใช้ไปสืบข่าวพ่อค้า ]
พวกโจรเมื่อพ่อค้านั้นล่าช้าอยู่  จึงส่งบุรุษคนหนึ่งไปด้วยสั่งว่า
"เจ้าจงไปสืบดูว่าพ่อค้านั้นจะออกเดินทางต่อเมื่อไร"

บุรุษนั้นไปถึงหมู่บ้านนั้นแล้ว  ถามสหายคนหนึ่งในหมู่บ้านว่า  "พ่อค้าจะออกเดินทางต่อเมื่อไร"

สหายนั้นตอบว่า  "อีก ๒ - ๓ วัน  ท่านถามทำไมหรือ"

บุรุษนั้นบอกแก่เขาว่า  "พวกเราเป็นโจร ๕๐๐  ซุ่มอยู่ในดงเพื่อต้องการพ่อค้านั่น"

เมื่อบุรุษนั้นกลับไปแล้ว  ฝ่ายสหายที่อยู่ในหมู่บ้านคิดว่า  "เราจะห้ามพวกโจรหรือพ่อค้าดีหนอ"
ตกลงใจว่า  "ประโยชน์อะไรของเราด้วยพวกโจร
ภิกษุ ๕๐๐ รูปอาศัยพ่อค้าเป็นอยู่  เราจะแจ้งข่าวนี้แก่พ่อค้า"
แล้วจึงไปหาพ่อค้านั้น  ถามว่า  "ท่านจะไปเมื่อไร"

พ่อค้าตอบว่า  "อีก ๓ วันนับจากนี้"

เขากล่าวว่า  "ท่านจงทำตามคำของข้าพเจ้า
ได้ยินว่ามีพวกโจร ๕๐๐ ซุ่มอยู่ในดงเพื่อต้องการตัวท่าน  ท่านอย่าเพิ่งไปเลย"

[ พ่อค้าถูกโจรสกัดต้องพักอยู่ในระหว่างทาง ]
พ่อค้าถามว่า  "ท่านรู้อย่างไร"

บุรุษสหายตอบว่า  "เพื่อนของข้าพเจ้ามีอยู่ในกลุ่มโจรเหล่านั้น  ข้าพเจ้ารู้เพราะคำบอกเล่าของเขา"

พ่อค้า  "ถ้าเช่นนั้น  ประโยชน์อะไรของเราด้วยการไปจากที่นี่  เรากลับไปเรือนดีกว่า"

โจรเหล่านั้นไม่เห็นพ่อค้ามา  จึงส่งบุรุษคนเดิมไปอีก
เขามาถึงแล้ว  ถามสหายนั้น  ได้ฟังความเป็นไปนั้นแล้ว  ไปบอกแก่พวกโจรว่า  "ได้ยินว่าพ่อค้ากำลังจะกลับไปที่เรือนแล้ว"

พวกโจรฟังคำนั้นแล้ว  จึงออกจากดงนั้น  ไปซุ่มอยู่ริมหนทางที่พ่อค้าจะกลับ

เมื่อพ่อค้านั้นชักช้าอยู่  โจรเหล่านั้นก็ส่งบุรุษไปถามสหายอีก

สหายนั้นรู้ความที่พวกโจรชุ่มอยู่ในที่นั้นแล้ว  ก็แจ้งแก่พ่อค้าอีก

พ่อค้าคิดว่า  "แม้ในที่นี้  ความขาดแคลนด้วยอะไร ๆ ของเราก็ไม่มี
เมื่อเป็นเช่นนี้  เราจะยังไม่ไปข้างโน้น  ไม่ไปข้างนี้  จะอยู่ที่นี่แหละ"

แล้วไปหาภิกษุทั้งหลาย  กราบเรียนว่า
"ท่านผู้เจริญ  ได้ยินว่าพวกโจรประสงค์จะปล้นผม  ซุ่มอยู่ริมหนทางไป
ครั้นได้ยินว่าผมจะกลับ  พวกโจรก็ไปซุ่มอยู่ริมหนทางกลับ
ฉะนั้น  ผมจะยังไม่ไปทั้งข้างโน้น  ทั้งข้างนี้  จะพักอยู่ที่นี่ชั่วคราว
ท่านผู้เจริญทั้งหลายประสงค์จะอยู่ที่นี่ก็จงอยู่
ประสงค์จะไปก็จงไปตามความพอใจของท่านเถิด"

พวกภิกษุกล่าวว่า  "ถ้าเช่นนั้น  พวกฉันจะกลับ"
อำลาพ่อค้าแล้ว
ในวันรุ่งขึ้น  ไปสู่เมืองสาวัตถี  ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่งอยู่  ณ  ที่สมควร

[ สิ่งที่ควรเว้น ]
พระศาสดาตรัสถามว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอไม่ไปกับพ่อค้ามีทรัพย์มากผู้นั้นหรือ"

พวกภิกษุกราบทูลว่า  "อย่างนั้น  พระเจ้าข้า
พวกโจรซุ่มอยู่ริมทางทั้งสองข้างเพื่อต้องการปล้นพ่อค้าผู้นั้น
เพราะเหตุนั้น  เขาจึงพักอยู่ในที่นั้นแล
ส่วนพวกข้าพระองค์ลาเขากลับมา"

พระศาสดาตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย
พ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก  ย่อมเว้นทางที่มีภัยเพราะความที่พวกโจรมีอยู่
บุรุษผู้ใคร่จะมีชีวิตอยู่  ย่อมเว้นยาพิษอันร้ายแรง
ส่วนภิกษุเมื่อทราบว่า  'ภพ ๓ เป็นเช่นกับหนทางที่พวกโจรซุ่มอยู่'  แล้วเว้นกรรมชั่วเสีย  จึงควร"

ดังนี้แล้ว  จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
       "บุคคลพึงเว้นกรรมชั่วทั้งหลายเสีย
เหมือนพ่อค้ามีทรัพย์มาก  มีพวกน้อย  เว้นทางอันน่ากลัว
และเหมือนผู้ต้องการจะมีชีวิตอยู่  เว้นยาพิษเสีย  ฉะนั้น"

ในกาลจบพระธรรมเทศนา
ภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
พระธรรมเทศนาได้เป็นประโยชน์เเม้เเก่มหาชนผู้มาประชุม  ดังนี้แล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)