อัตตานุวาทสูตร (อังคุตตรนิกาย > ทุกนิบาต > ปฐมปัณณาสก์ > กัมมกรณวรรค)


อัตตานุวาทสูตร  (ว่าด้วยอัตตานุวาทภัย)

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย  ภัย ๔ ประการนี้
ภัย  ๔  ประการ  อะไรบ้าง  คือ
๑. อัตตานุวาทภั
๒. ปรานุวาทภัย
๓. ทัณฑภัย
๔. ทุคติภัย

อัตตานุวาทภัย  เป็นอย่างไร
คือ  บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า
'ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วทางกาย  ประพฤติชั่วทางวาจา  ประพฤติชั่วทางใจ  ไฉนเราจะติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้'

เขากลัวภัยที่เกิดจากการติเตียนตนเอง
จึงละกายทุจริต  บำเพ็ญกายสุจริต
ละวจีทุจริต  บำเพ็ญวจีสุจริต
ละมโนทุจริต  บำเพ็ญมโนสุจริต
บริหารตนให้บริสุทธิ์

นี้เรียกว่า  อัตตานุวาทภัย

ปรานุวาทภัย  เป็นอย่างไร
คือ  บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า
'ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วทางกาย  ประพฤติชั่วทางวาจา  ประพฤติชั่วทางใจ  ไฉนคนอื่นจะติเตียนเราโดยศีลไม่ได้'

เขากลัวภัยที่เกิดจากผู้อื่นติเตียน
จึงละกายทุจริต  บำเพ็ญกายสุจริต
ละวจีทุจริต  บำเพ็ญวจีสุจริต
ละมโนทุจริต  บำเพ็ญมโนสุจริต
บริหารตนให้บริสุทธิ์

นี้เรียกว่า  ปรานุวาทภัย

ทัณฑภัย  เป็นอย่างไร
คือ  บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นพระราชารับสั่งให้จับโจรผู้มักประพฤติชั่วแล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด  คือ
เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง  เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง  ตีด้วยไม้พลองบ้าง
ตัดมือบ้าง  ตัดเท้าบ้าง  ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง
ตัดใบหูบ้าง  ตัดจมูกบ้าง  ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง
วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง
ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์บ้าง
เอาไฟยัดปากจนเลือดไหลเหมือนปากราหูบ้าง
เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง
พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง
ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้า  ให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลงบ้าง
ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว  ทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง
สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้ง ๕ ทิศเอาไฟเผาบ้าง
ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง  เนื้อ  เอ็น  ออกมาบ้าง
เฉือนเนื้อออกเป็นแว่น ๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง
เฉือนเนื้อ  หนัง  เอ็น  ออก  เหลือไว้แต่กระดูกบ้าง
ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง
เสียบให้ติดดินแล้วจับเขาหมุนได้รอบบ้าง
ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออก  เหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง
รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง
ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง
ให้นอนบนหลาวเหล็กทั้งเป็นบ้าง
ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง
เขามีความคิดอย่างนี้ว่า
'เพราะกรรมชั่วเช่นใดเป็นเหตุ
พระราชาจึงรับสั่งให้จับโจรผู้มักประพฤติชั่วแล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด  คือ
เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง  ฯลฯ  ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
ก็ถ้าเราเองพึงทำกรรมชั่วเช่นนั้น
พระราชาพึงรับสั่งให้จับเรา  แล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิดอย่างนี้  คือ
เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง  ฯลฯ  ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง'

เขากลัวต่อทัณฑภัยนั้น
จึงละกายทุจริต  บำเพ็ญกายสุจริต
ละวจีทุจริต  บำเพ็ญวจีสุจริต
ละมโนทุจริต  บำเพ็ญมโนสุจริต
บริหารตนให้บริสุทธิ์

นี้เรียกว่า  ทัณฑภัย

ทุคติภัย  เป็นอย่างไร
คือ  บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า
'ผลของกายทุจริต  เป็นผลเลวทราม  เป็นทุกข์  ซึ่งบุคคลจะต้องได้รับในภพหน้าแน่นอน
ผลของวจีทุจริต  เป็นผลเลวทราม  เป็นทุกข์  ซึ่งบุคคลจะต้องได้รับในภพหน้าแน่นอน
ผลของมโนทุจริต  เป็นผลเลวทราม  เป็นทุกข์  ซึ่งบุคคลจะต้องได้รับในภพหน้าแน่นอน
ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วทางกาย  ประพฤติชั่วทางวาจา  ประพฤติชั่วทางใจ
ความชั่วบางอย่างนั้นพึงเป็นเหตุให้เราหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก'

เขากลัวต่อทุคติภัยนั้น
จึงละกายทุจริต  บำเพ็ญกายสุจริต
ละวจีทุจริต  บำเพ็ญวจีสุจริต
ละมโนทุจริต  บำเพ็ญมโนสุจริต
บริหารตนให้บริสุทธิ์

นี้เรียกว่า  ทุคติภัย

ภิกษุทั้งหลาย  ภัย ๔ ประการนี้แล"


อัตตานุวาทสูตร  จบ


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)