อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ปาปวรรค)


อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ  (เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี)

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีและเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐี  ดังนี้ว่า
       "ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
ตราบนั้น  คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
แต่เมื่อใดบาปให้ผล
เมื่อนั้น  คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้
       ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
ตราบนั้น  คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
แต่เมื่อใดกรรมดีให้ผล
เมื่อนั้น  คนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้"

อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ  จบ


อรรถกถา
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
ทรงปรารภเศรษฐีชื่ออนาถบิณฑิกะ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า


เศรษฐีบำรุงภิกษุสามเณรเป็นนิตย์ ]
ได้ยินว่า
อนาถบิณฑิกเศรษฐีจ่ายทรัพย์ตั้ง ๕๔ โกฎิเฉพาะสร้างวิหารเชตวันถวายไว้ในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน
เศรษฐีนี้ได้ไปสู่ที่บำรุงใหญ่ ๓ แห่งทุกวัน  ก็เมื่อจะไป  คิดว่า
"สามเณรก็ดี  ภิกษุหนุ่มก็ดี  พึงแลดูแม้มือของเรา  ด้วยการนึกว่า  'เศรษฐีนั้นถืออะไรมาบ้าง"
ดังนี้  จึงไม่เคยไปวิหารด้วยมือเปล่าเลย

เมื่อไปเวลาเช้า  ก็ให้คนถือข้าวต้มไป
เมื่อบริโภคอาหารเช้าแล้ว  ก็ให้คนถือเภสัชทั้งหลาย  มีเนยใส  เนยข้นเป็นต้น  ไปวิหาร
เมื่อไปเวลาเย็น  ก็ให้ถือสิ่งของต่าง ๆ  มีระเบียบดอกไม้  ของหอม  เครื่องลูบไล้  และผ้าเป็นต้น  ไปสู่วิหาร

เศรษฐีได้ทำการถวายทาน  รักษาศีล  อย่างนั้นทุก ๆ วัน  ตลอดกาลเป็นนิตย์ทีเดียว


[ การหมดสิ้นแห่งทรัพย์ของเศรษฐี ]
ในกาลต่อมา  เศรษฐีถึงความสิ้นไปแห่งทรัพย์
เพื่อนพ่อค้าที่กู้หนี้เป็นทรัพย์ ๑๘ โกฏิจากเศรษฐีก็ไม่ยอมใช้หนี้
เงิน ๑๘ โกฏิที่เป็นสมบัติของตระกูล  ที่ฝังไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำ  เมื่อฝั่งพังลงเพราะน้ำเซาะ  ก็จมลงในมหาสมุทร
ทรัพย์ของเศรษฐีนั้นได้ถึงความหมดสิ้นไปโดยลำดับ  ด้วยประการอย่างนี้

เศรษฐีแม้อยู่ในฐานะลำบากอย่างนี้แล้ว  ก็ยังถวายทานแก่สงฆ์เรื่อยไป
แต่ไม่สามารถถวายให้ประณีตได้เหมือนที่ผ่านมา

ในวันหนึ่ง  เมื่อเศรษฐีไปยังวิหาร  พระศาสดารับสั่งถามว่า
"คหบดี  ท่านยังคงให้ทานสม่ำเสมออยู่หรือ"

เศรษฐีกราบทูลว่า  "พระพุทธเจ้าข้า  ข้าพระองค์ยังคงให้ทานอยู่
แต่ทานนั้นใช้ข้าวปลายเกรียน  มีน้ำส้มพะอูมเป็นกับ"


[ เมื่อมีจิตผ่องใส  ทานที่ถวายไม่เป็นของเลว ]
ทีนั้น  พระศาสดาตรัสกับเศรษฐีว่า
"คหบดี  ท่านอย่าคิดว่า  'เราถวายทานเศร้าหมอง'  เลย
ด้วยว่าเมื่อจิตประณีตแล้ว  ทานที่บุคคลถวายแด่พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น  ชื่อว่าเศร้าหมองย่อมไม่มี

คหบดี  อีกประการหนึ่ง  ท่านได้ถวายทานแด่พระอริยบุคคลทั้ง ๘ แล้ว
ส่วนเราในอดีตชาติ  เมื่อครั้งเกิดเป็นเวลามพราหมณ์นั้น  ได้ให้มหาทานเป็นเวลานาน  ทำให้ชาวชมพูททวีปทั้งสิ้นไม่ต้องไถนา

แต่ในทานนั้น  ไม่มีทักขิไณยบุคคลไร ๆ แม้ผู้ถึงซึ่งไตรสรณะ
ชื่อว่าทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย  ยากที่บุคคลจะได้ด้วยประการฉะนี้
เพราะเหตุนั้น  ท่านอย่าคิดเลยว่า  'ทานของเราเศร้าหมอง"

ดังนี้แล้ว  ได้ตรัสเล่าเวลามสูตรแก่เศรษฐีนั้น


[ เทวดาเตือนเศรษฐีให้เลิกการบริจาค ]
ครั้งนั้น  เทวดาองค์หนึ่งสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูของเศรษฐี
เมื่อพระศาสดาและสาวกทั้งหลายเข้าไปสู่เรือน  ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้เพราะเดชแห่งพระศาสดาและพระสาวกเหล่านั้น  เทวดานั้นคิดว่า
"พระศาสดาและพระสาวกเหล่านี้จะไม่มาสู่เรือนนี้ได้ด้วยประการใด  เราจะยุยงคหบดีด้วยประการนั้น"

เทวดาคิดจะพูดกะเศรษฐีนั้น  แต่ก็ยังไม่ได้โอกาสที่จะกล่าวอะไร ๆ ในกาลที่เศรษฐียังมีทรัพย์อยู่
แต่บัดนี้  คิดว่า  "ก็บัดนี้  เศรษฐีนี้เป็นผู้ยากจนแล้ว  คงจักเชื่อฟังคำของเรา"

ในเวลาราตรี  จึงเข้าไปสู่ห้องของเศรษฐี  ได้ยืนปรากฏกายอยู่ในอากาศ

ขณะนั้น  เศรษฐีเห็นเทวดานั้นแล้วถามว่า  "นั่นใคร"

เทวดา  "ท่านเศรษฐี  ข้าพเจ้าเป็นเทวดาสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของท่าน  มาเพื่อต้องการเตือนท่าน"

เศรษฐี  "เทวดา  ถ้าเช่นนั้น  เชิญท่านพูดเถิด"

เทวดา  "ท่านเศรษฐี  ที่ผ่านมา  ท่านไม่คิดถึงอนาคตเลย  จ่ายทรัพย์เป็นอันมากในศาสนาของพระสมณโคคม
บัดนี้  ท่านแม้เป็นผู้ยากจนแล้ว  ก็ยังไม่ละการจ่ายทรัพย์อีก
ถ้าท่านยังขืนประพฤติอย่างนี้  ก็จะไม่เหลือแม้อาหารและเครื่องนุ่งห่มใน ๒ - ๓ วันนี้แน่แท้
ท่านจะต้องการอะไรด้วยพระสมณโคคม
ท่านจงเลิกจากการบริจาคเกินกำลังเสีย  แล้วประกอบการงานทั้งหลาย  รวบรวมสมบัติไว้เถิด"

เศรษฐี  "นี้เป็นโอวาทที่ท่านให้แก่ข้าพเจ้าหรือ"

เทวดา  "ใช่แล้ว  ท่านเศรษฐี"

เศรษฐี  "ท่านออกไปจากที่นี่เถิด
แม้บุคคลผู้เช่นท่านจะมาเป็นร้อย  เป็นพัน  เป็นแสน  ก็ไม่อาจทำให้ข้าพเจ้าหวั่นไหวได้หรอก
ท่านกล่าวคำไม่สมควร
ข้าพเจ้าจะต้องการอะไรด้วยท่านในเรือนของข้าพเจ้า
ท่านจงออกไปจากเรือนของข้าพเจ้าโดยเร็ว"


[ เทวดาถูกเศรษฐีขับไล่  ไม่มีที่อาศัย ]
เทวดานั้นฟังคำของเศรษฐีผู้เป็นโสดาบันอริยสาวกแล้ว
ไม่อาจดำรงอยู่ได้  จำต้องพาทารกทั้งหลายของตนออกไปจากวิมาน

ก็แล  ครั้นออกไปแล้ว  ไม่สามารถหาที่อยู่ในที่อื่นได้  จึงคิดว่า
"เราจักให้ท่านเศรษฐีอดโทษ  แล้วกลับไปอยู่ในที่เดิมนั้น"

จึงเข้าไปหาเทพบุตรผู้รักษาพระนคร  แจ้งความผิดที่ตนทำ  แล้วกล่าวว่า
"มาเถิดท่าน  ขอท่านจงนำข้าพเจ้าไปยังเรือนของท่านเศรษฐี
ให้ท่านเศรษฐีอดโทษ  แล้วให้ที่อยู่แก่ข้าพเจ้าเถิด"

เทพบุตรผู้รักษาพระนครห้ามเทวดานั้นว่า
"ท่านกล่าวคำไม่สมควร  ข้าพเจ้าไม่อาจไปยังเรือนของเศรษฐีนั้นได้"

เทวดานั้นจึงไปสู่สำนักของท้าวมหาราชทั้ง ๔  แต่ก็ถูกท่านเหล่านั้นห้ามไว้เช่นกัน

จึงเข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์)  กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ  แล้วทูลวิงวอนอย่างน่าสงสารว่า
"ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช
ข้าพระองค์ไม่ได้ที่อยู่  ต้องจูงพวกทารกเที่ยวระหกระเหิน  หาที่พึ่งมิได้
ขอได้โปรดช่วยพูดให้เศรษฐีให้ที่อยู่แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"


[ ท้าวสักกะทรงแนะนำอุบายให้เทวดา ]
คราวนั้น  ท้าวสักกะตรัสกะเทวดานั้นว่า
"แม้เราก็ไม่อาจกล่าวกะเศรษฐีเพราะเหตุแห่งท่านได้เช่นเดียวกัน
แต่เราจะบอกอุบายให้แก่ท่านสักอย่างหนึ่ง"

เทวดา  "ดีละ  ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสบอกเถิด"

ท้าวสักกะ  "ท่านจงแปลงเป็นเสมียนของเศรษฐี  ใช้ให้คนนำหนังสือ (สัญญากู้เงิน) จากเศรษฐีมา
แล้วนำไปให้พ่อค้าเหล่านั้นชำระหนี้ทั้ง ๑๘ โกฏิด้วยอานุภาพของท่าน  แล้วบรรจุไว้ให้เต็มในคลังเปล่าของเศรษฐี
ทรัพย์ ๑๘ โกฏิที่จมลงยังมหาสมุทรมีอยู่ก็ดี
ทรัพย์ ๑๘ โกฏิส่วนอื่นซึ่งหาเจ้าของมิได้  มีอยู่ในที่โน้นก็ดี
จงรวบรวมทรัพย์ทั้งหมดนั้นบรรจุไว้ให้เต็มในคลังเปล่าของเศรษฐี
ครั้นทำทัณฑกรรมเช่นนี้แล้ว  จึงไปขอขมาโทษเศรษฐี"


[ เศรษฐีกลับรวยอย่างเดิม ]
เทวดานั้นรับว่า  "ดีละ"
แล้วทำทุกอย่างตามที่ท้าวสักกะตรัสบอก  ทำคลังเปล่าของเศรษฐีให้สว่างไสว
แล้วปรากฎกายอยู่ในอากาศให้เศรษฐีเห็น

เศรษฐีถามว่า  "นั่นใคร"

เทวดานั้นตอบว่า  "ข้าพเจ้าเป็นเทวดาอันธพาลซึ่งสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของท่าน
คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในเรือนของท่านด้วยความเป็นอันธพาล
ขอท่านจงอดโทษคำนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าได้ทำทัณฑกรรมด้วยการรวบรวมทรัพย์ ๕๔ โกฏิมาบรรจุไว้เต็มห้องเปล่าตามบัญชาของท้าวสักกะ
ข้าพเจ้าเมื่อไม่ได้ที่อยู่  จึงลำบาก"


[ เศรษฐีอดโทษแก่เทวดา ]
อนาถบิณฑิกเศรษฐีคิดว่า
"เทวดานี้กล่าวว่า  'ทัณฑกรรมอันข้าพเจ้ากระทำแล้ว'  ดังนี้
และรู้สึกโทษ (ความผิด) ของตนแล้ว
เราจะแสดงเทวดานั้นแด่พระผู้มีพระภาค"

เศรษฐีจึงพาเทวดานั้นไปสู่สำนักของพระศาสดา  กราบทูลกรรมอันเทวดานั้นทำแล้วทั้งหมด

เทวดานั้นหมอบลงด้วยเศียรเกล้าแทบพระบาทยุคลแห่งพระศาสดา  กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ไม่ทราบพระคุณทั้งหลายของพระองค์
ได้กล่าวคำใดอันชั่วช้าเพราะความเป็นอันธพาล
ขอพระองค์ทรงอดโทษคำนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"

พระศาสดาทรงอดโทษแล้ว
อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้อดโทษให้เช่นกัน


[ เมื่อกรรมให้ผล  คนโง่จึงเห็นถูกต้อง ]
พระศาสดาเมื่อจะทรงโอวาทเศรษฐีและเทวดา  ด้วยสามารถวิบากแห่งกรรมดีและชั่วนั่นแล  จึงตรัสว่า
"ดูก่อนคหบดี  แม้บุคคลผู้ทำบาปในโลกนี้  ย่อมเห็นบาปว่าดี  ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล
แต่เมื่อใดที่บาปของเขาเผล็ดผล  เมื่อนั้น  เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่วท้ ๆ
ฝ่ายบุคคลผู้ทำกรรมดี  ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว  ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล
แต่เมื่อใดที่กรรมดีของเขาเผล็ดผล  เมื่อนั้น  เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดีจริง ๆ"

ดังนี้แล้ว  จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
       "ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
ตราบนั้น  คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
แต่เมื่อใดบาปให้ผล
เมื่อนั้น  คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้
       ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
ตราบนั้น  คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
แต่เมื่อใดกรรมดีให้ผล
เมื่อนั้น  คนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้"

ในกาลจบพระธรรมเทศนา  เทวดานั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้มาประชุมกัน  ดังนี้เเล



บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)