โกกสุนขลุททกวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ปาปวรรค)


โกกสุนขลุททกวัตถุ  (เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ)

สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
ทรงปรารภนายพรานสุนัขชื่อโกกะ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า


[ นายพรานสำคัญว่าพระภิกษุเป็นคนกาลกรรณี ]
ได้ยินว่า
เวลาเช้าวันหนึ่ง  นายพรานนั้นถือธนู  มีสุนัขห้อมล้อม  ออกไปป่า

เขาพบภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง  กำลังเที่ยวบิณฑบาตในระหว่างทาง
จึงโกรธ  เพราะคิดว่า
"เราพบคนกาลกรรณี  วันนี้สงสัยจะไม่ได้สิ่งอะไรเลย"
แล้วเดินหลีกไป

ฝ่ายพระเถระเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้าน
ทำภัตกิจเสร็จแล้ว  จึงกลับไปสู่วิหาร

ฝ่ายนายพรานเที่ยวล่าสัตว์ในป่า  ไม่ได้อะไร ๆ เลย
เมื่อกำลังจะกลับ  ก็พบพระเถระอีก
จึงคิดว่า  "วันนี้  เราพบคนกาลกรรณีนี้แล้วไปป่า  จึงไม่ได้อะไร ๆ เลย
บัดนี้  ยังได้มาเผชิญหน้าเราอีก
เราจะให้สุนัขทั้งหลายกัดพระรูปนั้นเสีย"
ดังนี้แล้ว  จึงส่งสัญญาณปล่อยสุนัขไป

พระเถระอ้อนวอนว่า  "อุบาสก  ท่านอย่าทำอย่างนั้น"

เขาร้องตอบว่า  "วันนี้  ข้าพเจ้าไม่ได้อะไรในป่าเพราะเจอท่าน
แม้เวลานี้  ท่านก็มาประสบข้าพเจ้าอีก
ข้าพเจ้าจะให้สุนัขกัดท่าน"
ดังนี้แล้ว  จึงให้สุนัขกัด

พระเถระรีบขึ้นต้นไม้ต้นหนึ่งโดยเร็ว  นั่งในที่สูงชั่วบุรุษหนึ่ง
สุนัขทั้งหลายก็พากันล้อมต้นไม้ไว้

นายพรานโกกะร้องตะโกนว่า
"แม้ท่านจะหนีขึ้นต้นไม้  ก็ไม่มีทางพ้นไปได้"
ดังนี้แล้ว  จึงแทงพื้นเท้าของพระเถระด้วยปลายลูกศรธนู

พระเถระได้เเต่อ้อนวอนว่า  "ท่านอย่าทำเช่นนั้น"

นายพรานโกกะไม่คำนึงถึงคำอ้อนวอนของท่าน  กลับแทงกระหน่ำใหญ่

พระเถระเมื่อพื้นเท้าข้างหนึ่งถูกแทงอยู่  จึงยกเท้านั้นขึ้น  หย่อนเท้าที่ ๒ ลง
แม้เมื่อเท้าที่ ๒ นั้นถูกแทงอยู่  จึงยกเท้านั้นขึ้นเสีย

นายพรานโกกะไม่คำนึงถึงคำอ้อนวอนของพระเถระ
แทงพื้นเท้าทั้งสองแล้วด้วยอาการอย่างนี้เทียว

สรีระของพระเถระได้เป็นประดุจถูกรมด้วยคบเพลิง
ท่านเสวยเวทนา  ไม่สามารถจะคุมสติไว้ได้
จีวรที่ท่านห่มจึงหลุดลงมา
จีวรนั้นเมื่อตกลง  ก็ตกลงมาคลุมนายโกกะตั้งแต่ศีรษะทีเดียว


[ สุนัขรุมกัดนายพราน ]
เหล่าสุนัขสำคัญว่าพระเถระตกลงมาแล้ว
จึงกรูกันเข้าไปสู้จีวรนั้น  แล้วรุมกันกัดกินเจ้าของของตน  เหลืออยู่เพียงกระดูก
แล้วออกมายืนอยู่ภายนอก

ทีนั้น  พระเถระจึงหักกิ่งไม้เเห้งกิ่งหนึ่งขว้างสุนัขเหล่านั้น
เหล่าสุนัขเห็นพระเถระแล้ว  รู้ว่าพวกตัวกัดกินเจ้าของเอง
จึงหนีเข้าป่า


[ พระเถระสงสัยในศีลและสมณภาพของตน ]
พระเถระเกิดความสงสัยขึ้นว่า
"บุรุษนั้นถูกจีวรของเราคลุมจึงฉิบหายแล้ว
ศีลของเราไม่ด่างพร้อยหรือหนอ"

ท่านลงจากต้นไม้เเล้วไปสู่สำนักของพระศาสดา
กราบทูลเรื่องราวนั้นตั้งแต่ต้น  แล้วทูลถามว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อุบาสกนั้นถูกจีวรของข้าพระองค์คลุม  ถึงความฉิบหายแล้ว
ศีลของข้าพระองค์ด่างพร้อยหรือไม่หนอ
ความเป็นสมณะของข้าพระองค์ยังคงมีอยู่หรือไม่หนอ"
   
[ พระศาสดาทรงรับรองศีลและสมณภาพ ]
พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระเถระนั้นแล้ว   ตรัสว่า
"ภิกษุ  ศีลของเธอไม่ด่างพร้อย
ความเป็นสมณะของเธอยังมีอยู่
เขาประทุษร้ายต่อเธอผู้ไม่ประทุษร้าย  จึงถึงความพินาศ
ทั้งมิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น
แม้ในอดีตกาล  เขาก็ประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย
ถึงความพินาศแล้วเหมือนกัน"

ดังนี้แล้ว  เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น
ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า


[ บุพกรรมของนายพราน ]
"ดังได้สดับมา  ในอดีตกาล
หมอผู้หนึ่งเที่ยวไปถึงหมู่บ้าน  เพื่อต้องการประกอบเวชกรรม (รักษาคนป่วย)
แต่ยังไม่มีใครให้รักษา  ถูกความหิวรบกวนแล้ว

เขาเดินไปพบเด็ก ๆ เป็นอันมากกำลังเล่นอยู่ที่ประตูบ้าน  จึงคิดว่า
"ถ้าเราทำให้งูกัดเด็กเหล่านั้น  แล้วทำการรักษา  เราก็จะได้อาหาร"

ดังนี้แล้ว  จึงชี้ไปที่งูตัวหนึ่งซึ่งนอนโผล่หัวอยู่ในโพรงไม้เเห่งหนึ่ง
บอกกับเด็ก ๆ ว่า
"แน่ะ  เจ้าเด็กทั้งหลาย  นั่นลูกนกสาลิกา  พวกเจ้าจับมันสิ"

ทันใดนั้น  เด็กน้อยคนหนึ่งจับงูที่คออย่างมั่น  แล้วดึงออกมา
เมื่อรู้ว่ามันเป็นงู  จึงร้องขึ้น  แล้วสลัดทิ้งไป
งูนั้นไปตกบนกระหม่อมของหมอผู้ยืนอยู่ไม่ไกล

งูรัดก้านคอของหมอ  กัดอย่างจมเขี้ยว
หมอผู้นั้นถึงความสิ้นชีวิตในที่นั้นนั่นเอง

นายโกกะพรานสุนัขนี้
แม้ในกาลก่อน  ก็ประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
ถึงความพินาศแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน"

พระศาสดาครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม  จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
       "ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย
ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์  ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมแล้ว  ฉะนั้น"

ในกาลจบพระธรรมเทศนา
ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในพระอรหัตผล
พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว  ดังนี้แล


โกกสุนขลุททกวัตถุ  จบ


บทความที่เกี่ยวข้อง
๑. อย่าใช้พระธรรมผิดทาง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)