มหาโมรชาดก (ขุททกนิกาย > ชาดก > ปกิณณกนิบาต)


มหาโมรชาดก  (ว่าด้วยพญานกยูงพ้นจากบ่วง)

พญานกยูงร้องขอชีวิตว่า
"ถ้าหากท่านจับข้าพเจ้าเพราะเหตุแห่งทรัพย์
ท่านอย่าได้ฆ่าข้าพเจ้าเลย
จงจับเป็นแล้วนำข้าพเจ้าไปถวายพระราชาเถิดเพื่อน
ท่านคงจะได้ทรัพย์มิใช่น้อย"

บุตรนายพรานปลอบว่า
"ลูกธนูที่สอดอยู่ในแล่งนี้
ข้าพเจ้าตั้งใจจะฆ่าท่านในวันนี้ก็หาไม่
แต่จะตัดบ่วงให้แก่ท่าน  ด้วยมีความประสงค์ว่า
ขอพญานกยูงทองจงบินไปตามสบายเถิด"

พญานกยูงกล่าวว่า
"ข้าพเจ้าขอถามท่าน
เพราะเหตุที่ท่านสู้อดกลั้นความหิวกระหายตลอดทั้งคืนทั้งวัน
เฝ้าติดตามข้าพเจ้าอยู่ตลอด  ๗  ปี
เมื่อเป็นเช่นนั้น
เพราะเหตุอะไรท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วง
ให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า
วันนี้  ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตแล้วหรือหนอ
หรือว่าท่านให้อภัยแก่สัตว์ทั้งปวงแล้ว
เพราะเหตุใด  ท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วง
ให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า"

บุตรนายพรานถามว่า
"พญานกยูง
ขอท่านจงบอกถึงผลของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
และให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวง
ความข้อนี้ที่ข้าพเจ้าถามท่าน
เขาจุติจากโลกนี้ไปแล้วจะได้รับความสุขอย่างไร"

พญานกยูงตอบว่า
"ข้าพเจ้าขอบอกผลของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
และผู้ให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวงว่า
เขาย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และเมื่อตายย่อมไปสู่สวรรค์"

บุตรนายพรานกล่าวว่า
"สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า
'เทวดาไม่มี  ชีวะย่อมถึงความขาดสูญในภพนี้เท่านั้น
ผลของกรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน  ย่อมขาดสูญ'
และกล่าวสอนว่า  'ทานคนโง่บัญญัติไว้'
ข้าพเจ้าเชื่อวาจาของสมณะและพราหมณ์เหล่านั้น
เพราะเหตุนั้น  ข้าพเจ้าจึงเบียดเบียนนกทั้งหลาย"

พญานกยูงกล่าวว่า
"ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒  เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว  โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นมีอยู่ในโลกนี้หรือโลกอื่น
ในมนุษยโลก  พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้น
อย่างไรหนอ"

บุตรนายพรานกล่าวว่า
"ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒  เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว  โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นมีอยู่ในโลกอื่น  ไม่ใช่โลกนี้
ในมนุษยโลก  พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้น
ว่าเทวดา"

พญานกยูงกล่าวกับเขาว่า
"สมณะและพราหมณ์เหล่าใดเป็นอเหตุกทิฏฐิ
ไม่พูดถึงกรรม
ไม่พูดถึงผลของกรรมดีกรรมชั่วด้วยเหมือนกัน
แต่สอนว่า  'ทานคนโง่บัญญัติไว้'
สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีทิฏฐิเลวทราม
ถูกกำจัดแล้วในเพราะการพยากรณ์ (ตอบ) เพียงเท่านี้"

(อเหตุกทิฏฐิ  คือพวกมีความเห็นผิด  กล่าวอย่างนี้ว่า  กรรมที่เป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์และความเศร้าหมองไม่มี)

บุตรนายพรานกำหนดได้แล้วจึงกล่าวว่า
"คำของท่านนั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
ทานจะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
กรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน  จะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
และทานคนโง่จะพึงบัญญัติขึ้นได้อย่างไร
พญานกยูง  ข้าพเจ้ากระทำกรรมอย่างไร  กระทำเพราะอะไร
ประพฤติอย่างไร  จะคบใคร  ผู้มีตบะคุณอย่างไร
ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า
โดยที่ข้าพเจ้าจะไม่ต้องตกนรก"

พญานกยูงกล่าวว่า
"บนพื้นแผ่นดินยังมีสมณะพวกใดพวกหนึ่งอยู่
สมณะเหล่านั้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์  เป็นบรรพชิต
เที่ยวบิณฑบาตเฉพาะเวลาเช้า
งดเว้นการบริโภคในเวลาวิกาล  เป็นสัตบุรุษ
ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้นตามกาลอันสมควร
แล้วจงถามข้อความตามที่ท่านพอใจ
สมณะเหล่านั้นจะชี้แจงข้อความอันเป็นประโยชน์
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าแก่ท่านตามที่รู้มา"

บุตรนายพรานได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  เปล่งอุทานว่า
"ความเป็นพรานนี้ข้าพเจ้าละได้แล้ว
เหมือนงูลอกคราบเก่าแก่ทิ้งไป
เหมือนต้นไม้สลัดใบเหลืองทิ้ง  เขียวชะอุ่มอยู่
ข้าพเจ้าละทิ้งความเป็นพรานได้ในวันนี้"

พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงทำสัจจกิริยาว่า
"นกเหล่าใดที่ข้าพเจ้ากักขังไว้หลายร้อยตัวในเรือนของข้าพเจ้า
วันนี้  ข้าพเจ้าให้ทานชีวิตแก่นกเหล่านั้น
ขอให้นกเหล่านั้นจงหลุดพ้น  กลับไปยังที่อยู่ของตนเถิด"

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศว่า
บุตรนายพรานพ้นจากทุกข์ได้เพราะอาศัยพญานกยูงทอง
จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า
"นายพรานถือบ่วงเที่ยวไปในป่า
เพื่อจะจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศ
ครั้นจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศได้แล้ว
เขาได้พ้นจากทุกข์  เหมือนเราตถาคตได้พ้นแล้ว"

มหาโมรชาดก  จบ

อรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่  ณ  พระเชตวันมหาวิหาร  ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันอยากสึกรูปหนึ่ง  จึงได้ตรัสเรื่องนี้

เรื่องย่อมีว่า  พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า  "จริงหรือที่ข่าวว่าเธอกระสันจะสึก"
ภิกษุรูปนั้นรับสารภาพว่า  "จริง  พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสว่า  "ดูก่อนภิกษุ
ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินนี้  ไฉนจักไม่ให้บุคคลอย่างเธอกระวนกระวายได้เล่า
เปรียบเหมือนลมที่สามารถพลิกภูเขาสุเนรุได้  ไฉนจะไม่ทำให้ใบไม้เก่ากระจัดกระจายไปเล่า
ในปางก่อนนั้น  แม้สัตว์ผู้บริสุทธิ์คอยหักห้ามความฟุ้งซ่านของกิเลสในภายในอยู่ ๗๐๐ ปี  ก็ยังโดนความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินนี้ทำให้กระวนกระวายได้เลย"

ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล  ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ  ณ  พระนครพาราณสี
พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในท้องนางนกยูงในประเทศชายแดน
เมื่อครรภ์แก่เต็มที่แล้ว  นางนกยูงผู้มารดาตกฟอง  ณ  ที่หากิน  แล้วบินไป
ก็ธรรมดาว่าฟองไข่  เมื่อมารดาไม่มีโรค  และไม่มีอันตรายอื่น ๆ เป็นต้นว่าทีฆชาติรบกวน  ย่อมไม่เสีย
เหตุนั้นฟองไข่นั้นจึงเป็นเหมือนดอกกรรณิการ์ตูม ๆ  มีสีเหมือนสีทอง

เมื่อเวลาครบกำหนดก็แตกโดยธรรมดาของตน
ลูกนกยูงมีสีเป็นทองออกมาแล้ว  ลูกนกยูงทองนั้นมีนัยน์ตาทั้งคู่คล้ายผลกระพังโหม  มีจะงอยปากสีเหมือนแก้วประพาฬ  มีสร้อยสีแดงสามชั้นวงรอบคอผ่านไปกลางหลัง

ครั้นยูงทองเจริญวัย  มีร่างกายเติบใหญ่ขนาดดุมเกวียน  รูปงามยิ่งนัก  ฝูงนกยูงเขียว ๆ ทั้งหมดประชุมกันยกให้นกยูงทองเป็นเจ้านา  พากันแวดล้อมเป็นบริวาร

วันหนึ่ง  นกยูงทองดื่มน้ำในกระพังน้ำ  เห็นรูปสมบัติของตน  คิดว่า
"เรามีรูปงามล้ำเลิศกว่านกยูงทั้งหมด  ถ้าเราจักอยู่ในแดนมนุษย์กับฝูงนกยูงเหล่านี้  อันตรายคงบังเกิดแก่เรา  เราต้องไปป่าหิมพานต์อาศัยอยู่  ณ  ที่อันสำราญลำพังผู้เดียวจึงจะดี"

เมื่อฝูงนกยูงพากันแนบรังนอนในราตรีกาล  ก็มิได้บอกให้ตัวอะไรรู้เลย  โผขึ้นบินเข้าป่าหิมพานต์  ผ่านทิวเขาไป ๓ ทิว
ถึงทิวที่ ๔  มีสระธรรมชาติขนาดใหญ่  ดารดาษไปด้วยปทุมอยู่ในป่าตอนหนึ่ง
ไม่ไกลสระนั้น  มีต้นไทรใหญ่เกิดอาศัยภูเขาลูกหนึ่ง  จึงลงพักอยู่ที่กิ่งไทรนั้น

อนึ่ง  ที่ตรงกลางภูเขานั้นยังมีถ้ำอันน่าเจริญใจ
พญานกยูงทองประสงค์จะอยู่ในถ้ำนั้น  จึงลงเกาะที่พื้นภูเขาตรงหน้าถ้ำนั้น
ก็แลที่ตรงนั้น  ผู้อยู่ข้างล่างไม่อาจขึ้นไปได้เลย  ผู้อยู่ข้างบนเล่าก็ไม่อาจลงไปได้  เป็นที่ปลอดภัยจากแมว  งู  มนุษย์
พญานกยูงทองคิดว่า  "ตรงนี้เป็นที่อันสำราญของเรา"
ดังนี้แล้ว  จึงพักอยู่ตรงนั้นเองตลอดวันนั้น

วันรุ่งขึ้น  ก็ลุกออกจากถ้ำไปเกาะที่ยอดเขา  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  เห็นสุริยมณฑลกำลังอุทัย  ก็สวดปริตรเพื่อขอความคุ้มครองป้องกันตนในเวลากลางวัน  แล้วร่อนลง  ณ  ที่หากิน  เที่ยวหากิน

ตอนเย็น  จึงมาเกาะที่ยอดเขา  บ่ายหน้าทางทิศตะวันตก  เพ่งดูสุริยมณฑลอันอัสดง  สวดพระปริตรเพื่อขอความคุ้มครองป้องกันในเวลากลางคืน  ได้พำนักอยู่ด้วยทำนองนี้

ต่อมาวันหนึ่ง  ลูกนายพรานผู้หนึ่งท่องเที่ยวไปในราวป่า  เห็นพญานกยูงทองนั้นจับอยู่เหนือยอดเขา  จึงมาที่อยู่ของตน
เมื่อจวนจะตาย  บอกลูกไว้ว่า  "พ่อเอ๋ย  ในราวป่าตรงทิวเขาที่ ๔  มีนกยูงทอง  ถ้าพระราชาตรัสถาม  ก็กราบทูลให้ทรงทราบ"

อยู่มาวันหนึ่ง  พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสีทรงพระนามว่าเขมา  ทรงสุบินในเวลาใกล้รุ่ง  พระสุบินได้มีเรื่องราวอย่างนี้ว่า
นกยูงมีสีเหมือนสีทองกำลังแสดงธรรม
พระนางทรงให้สาธุการสดับธรรม
นกยูงครั้นแสดงธรรมเสร็จ  ก็ลุกขึ้นบินไป
พระนางทอดพระเนตรเห็นพญายูงทองกำลังบินไป  ก็ตรัสสั่งให้คนทั้งหลายช่วยกันจับพญานกยูงนั้นให้ได้
ขณะที่กำลังตรัสอยู่นั่นแหละ  ทรงตื่นเสีย

ครั้นทรงตื่น  แล้วจึงทรงทราบว่าเป็นความฝัน  ทรงดำริต่อไปว่า
"ครั้นจะกราบทูลว่าฝันไป  พระราชาก็จะไม่ทรงเอาพระหฤทัยเอื้อเฟื้อ"
จึงทรงบรรทมประหนึ่งทรงแพ้พระครรภ์

ครั้งนั้น  พระราชาเสด็จเข้ามาใกล้พระนาง  ตรัสถามว่า  "นางผู้เจริญใจ  เธอไม่สบายเป็นอะไรไปเล่า"
พระเทวีกราบทูลว่า  "ความแพ้ครรภ์บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน  เพคะ"
พระราชาตรัสถามว่า  "เธอต้องการสิ่งใดเล่า  นางผู้เจริญ"
พระเทวีกราบทูลว่า  "ข้าแต่ทูลกระหม่อม  หม่อมฉันปรารถนาจะฟังธรรมของพญานกยูงทอง  เพคะ"
พระราชารับสั่งว่า  "นางผู้เจริญใจเอ๋ย  ฉันจักหาพญายูงทองอย่างนี้ได้จากไหน"
พระเทวีกราบทูลว่า  "ข้าแต่ทูลกระหม่อม  ถ้าหม่อมฉันมิได้สมปรารถนา  ชีวิตของหม่อมฉันก็จะไม่มี  เพคะ"
พระราชาตรัสปลอบว่า  "นางผู้เจริญใจ  อย่าเสียใจเลยนะ  ถ้ามันมีอยู่  ณ  ทีไหน  เธอต้องได้แน่นอน"

จากนั้น  พระราชาเสด็จประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์  ตรัสถามหมู่อำมาตย์ว่า  "แน่ะพ่อเอ๋ย  พระเทวีปรารถนาจะฟังธรรมของนกยูงทอง  อันนกยูงมีสีเหมือนสีทองน่ะ  มีอยู่หรือไม่"
พวกอำมาตย์กราบทูลว่า  "ขอเดชะ  พวกพราหมณ์คงจักทราบ  พระเจ้าข้า"
พระราชาตรัสให้หาพวกพราหมณ์มาเฝ้า  แล้วมีพระดำรัสถาม

พวกพราหมณ์พากันกราบทูลอย่างนี้ว่า  "ข้าแต่พระมหาราช
สัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นคือ  ในจำพวกสัตว์น้ำ  ปลา  เต่า  ปู
ในจำพวกสัตว์บก  มฤค  หงส์  นกยูง  นกกระทา
มีสีเหมือนสีทอง  มีอยู่
แม้มนุษย์ทั้งหลายเล่า  ก็มีสีเหมือนสีทอง  มีอยู่
ทั้งนี้  มีมาในคัมภีร์ลักษณมนต์ของข้าพระองค์ทั้งหลาย  พระเจ้าข้า"

พระราชาจึงทรงเรียกพวกบุตรพรานในแว่นแคว้นของพระองค์มาประชุมกัน  รับสั่งว่า  "พวกเธอเคยเห็นนกยูงทองบ้างไหม"
บุตรนายพรานคนที่บิดาเคยเล่าให้ฟัง  กราบทูลว่า
"ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น  แต่บิดาของข้าพระองค์บอกไว้ว่า  นกยูงทองมีอยู่ในสถานที่ตรงโน้น  พระเจ้าข้า"

ครั้งนั้น  พระราชาตรัสกะเขาว่า  "สหายเอ๋ย  เธอจักเป็นคนให้ชีวิตแก่ฉันและเทวีได้  เธอจงไปที่ป่านั้น  จับมัดนกยูงทองนั้นนำมาเถิด"
ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแล้วส่งไป

บุตรนายพรานได้ให้ทรัพย์แก่ลูกเมีย  แล้วไป  ณ  ป่านั้น  เห็นพระมหาสัตว์
จึงทำบ่วงดัก  รอว่า  "วันนี้คงติด  วันนี้คงติด"
ก็ไม่ติดสักวัน  จนตายไป

พระเทวีเมื่อไม่ได้ดังพระปรารถนา  ก็สิ้นพระชนม์ไป
พระราชาทรงกริ้วว่า  "เพราะอาศัยนกยูงทองตัวนี้เป็นเหตุ  เมียรักของเราต้องสิ้นพระชนม์"
ทรงมีพระหฤทัยเป็นไปในอำนาจแห่งเวร  จึงทรงให้จารึกไว้ในแผ่นทองว่า
"ที่ทิวเขาที่ ๔ ในป่าหิมพานต์  มีนกยูงทองอาศัยอยู่
บุคคลได้กินเนื้อของนกยูงทองนั้นแล้ว  จะไม่แก่ไม่ตาย"
แล้วบรรจุหนังสือนั้นไว้ในหีบไม้แก่น  แล้วสวรรคต

ครั้นกษัตริย์องค์อื่นได้เป็นพระราชาแล้ว  ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นอักษรในแผ่นทอง  ก็ทรงดำริว่า  "เราจักเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย"
ทรงส่งให้พรานผู้หนึ่งไปเพื่อจับพญานกยูงทองนั้น
แม้พรานผู้นั้นก็ตายเสียที่นั้นเช่นกัน

โดยทำนองนี้  ล่วงไปถึง ๖ รัชกาลแล้ว  ลูกพรานทั้ง ๖ ตายในป่าหิมพานต์นั้นเอง

ถึงพรานคนที่ ๗  ซึ่งพระราชาองค์ที่ ๗ ทรงใช้ไป  คิดว่า
"เราจักจับนกยูงทองนั้นได้ในวันนี้  ในวันนี้  แน่นอน"
แต่ล่วงไปถึง ๗ ปี  ก็ไม่สามารถจะจับนกยูงทองตัวนั้นได้  จึงคิดว่า
"ทำไมเล่าหนอ  บ่วงจึงไม่รูดรัดเท้าของพญานกยูงทองนี้"

เขาคอยสังเกตดูพญานกยูงทองนั้น  ได้เห็นนกยูงทองเจริญพระปริตรทุกเย็นทุกเช้า  ก็กำหนดได้โดยนัยว่า
"ในสถานที่นี้นกยูงตัวอื่นไม่มีเลย
อันพญายูงทองตัวนี้คงประพฤติพรหมจรรย์
ด้วยอานุภาพแห่งพรหมจรรย์  และด้วยอานุภาพแห่งพระปริตร 
บ่วงจึงไม่ติดเท้าของพญายูงทอง"

แล้วจึงไปสู่ปัจจันตชนบท  ดักนางนกยูงได้ตัวหนึ่ง  ฝึกฝนให้ขันในเวลาดีดนิ้วมือ  ให้ฟ้อนในเวลาตบมือ  แล้วพาไปป่าหิมพานต์
ก่อนเวลาที่พระโพธิสัตว์จะเจริญปริตรทีเดียว  เขาดักบ่วงไว้  แล้วดีดนิ้วมือให้นางนกยูงขัน

เมื่อพญายูงทองได้ฟังเสียงของนางนกยูง  กิเลสที่ราบเรียบไปตลอดเวลา ๗๐๐ ปี  ก็ฟุ้งขึ้นทันทีทันใด  เป็นเหมือนอสรพิษที่ถูกตีด้วยท่อนไม้  แผ่พังพานฉะนั้น
พญานกยูงนั้นกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลส  จนไม่สามารถจะเจริญพระปริตรได้ทีเดียว  บินไปหานางนกยูงโดยเร็ว  ถลาลงทางอากาศ  สอดเท้าเข้าไปในบ่วงทันที
บ่วงที่ไม่เคยรูดตลอด ๗๐๐ ปี  ก็รูดรัดเท้าในขณะนั้นแล

ทีนั้น  ลูกนายพรานเห็นพญานกยูงทองนั้นห้อยต่องแต่งอยู่ที่ปลายคันแร้ว  คิดว่า
"ลูกนายพราน ๖ คนไม่สามารถที่จะดักพญานกยูงทองนี้ได้
ถึงตัวเราก็ไม่สามารถดักได้ ๗ ปี
วันนี้  เวลาอาหารเช้า  พญานกยูงได้ยินเสียงนางนกยูง  จึงกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลส  ไม่อาจเจริญพระปริตร  มาติดบ่วงแขวนต่องแต่งเอาหัวลงอยู่
สัตว์ที่มีศีลเห็นปานฉะนี้  ถูกเรากระทำให้ลำบากเสียแล้ว
การน้อมนำสัตว์เช่นนี้เข้าไปเพื่อเป็นบรรณาการแด่พระราชา  ไม่ควรเลย
เราจะต้องการอะไรด้วยสักการะที่พระราชาทรงพระราชทาน
เราจะปล่อยเธอเสียเถอะ"

จากนั้น  บุตรนายพรานคิดขึ้นได้ว่า
"พญานกยูงทองนี้มีกำลังดังช้างสาร  สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง
ถ้าเราเข้าไปใกล้  คงคิดว่าเราจะมาฆ่า  แล้วอาจกลัวตายอย่างเหลือล้น  ดิ้นรนไป  ทำให้เท้าหรือปีกเสียได้
เราไม่ควรเข้าไปใกล้  เราจะซุ่มตัดบ่วงให้ขาดด้วยลูกศร
จากนั้น  เธอก็จะไปตามพอใจโดยลำพังตนเอง"
เขาจึงยืนอยู่ในที่ซ่อน  ยกธนูขึ้นสอดลูกศรยืนจ้องอยู่

ฝ่ายพญานกยูงดำริว่า  "พรานผู้นี้ทราบการที่ต้องทำให้เรากระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลสแล้ว  จึงดักได้ง่ายดาย
แต่ไม่เห็นกระตือรือร้นมาจับเราเลย  เขาซุ่มอยู่ตรงไหนเล่านะ"

แล้วมองดูรอบ ๆ  เห็นบุตรนายพรานยืนจ้องธนู  คิดว่า  "คงจักปรารถนาฆ่าเราให้ตาย"  จึงสะดุ้งกลัวต่อความตายเป็นล้นพ้น
เมื่อจะวอนขอชีวิต  จึงกล่าวว่า
"ถ้าหากท่านจับข้าพเจ้าเพราะเหตุแห่งทรัพย์
ท่านอย่าได้ฆ่าข้าพเจ้าเลย
จงจับเป็นแล้วนำข้าพเจ้าไปถวายพระราชาเถิดเพื่อน
ท่านคงจะได้ทรัพย์มิใช่น้อย"

บุตรนายพรานได้ยินคำนั้นแล้ว  คิดว่า  "พญานกยูงคงเข้าใจว่าเรสอดใส่ลูกศรเพื่อต้องการจะยิง  เราต้องปลอบเธอก่อน"  จึงกล่าวว่า
"ลูกธนูที่สอดอยู่ในแล่งนี้
ข้าพเจ้าตั้งใจจะฆ่าท่านในวันนี้ก็หาไม่
แต่จะตัดบ่วงให้แก่ท่าน  ด้วยมีความประสงค์ว่า
ขอพญานกยูงทองจงบินไปตามสบายเถิด"

ลำดับนั้น  พญานกยูงทองจึงกล่าวว่า
"ข้าพเจ้าขอถามท่าน
เพราะเหตุที่ท่านสู้อดกลั้นความหิวกระหายตลอดทั้งคืนทั้งวัน
เฝ้าติดตามข้าพเจ้าอยู่ตลอด  ๗  ปี
เมื่อเป็นเช่นนั้น
เพราะเหตุอะไรท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วง
ให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า
วันนี้  ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตแล้วหรือหนอ
หรือว่าท่านให้อภัยแก่สัตว์ทั้งปวงแล้ว
เพราะเหตุใด  ท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วง
ให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า"

บุตรนายพรานถามว่า
"พญานกยูง
ขอท่านจงบอกถึงผลของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
และให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวง
ความข้อนี้ที่ข้าพเจ้าถามท่าน
เขาจุติจากโลกนี้ไปแล้วจะได้รับความสุขอย่างไร"

พญานกยูงตอบว่า
"ข้าพเจ้าขอบอกผลของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
และผู้ให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวงว่า
เขาย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และเมื่อตายย่อมไปสู่สวรรค์"

บุตรนายพรานกล่าวว่า
"สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า
'เทวดาไม่มี  ชีวะย่อมถึงความขาดสูญในภพนี้เท่านั้น
ผลของกรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน  ย่อมขาดสูญ'
และกล่าวสอนว่า  'ทานคนโง่บัญญัติไว้'
ข้าพเจ้าเชื่อวาจาของสมณะและพราหมณ์เหล่านั้น
เพราะเหตุนั้น  ข้าพเจ้าจึงเบียดเบียนนกทั้งหลาย"

พญานกยูงกล่าวว่า
"ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒  เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว  โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นมีอยู่ในโลกนี้หรือโลกอื่น
ในมนุษยโลก  พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้น
อย่างไรหนอ"

บุตรนายพรานกล่าวว่า
"ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒  เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว  โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นมีอยู่ในโลกอื่น  ไม่ใช่โลกนี้
ในมนุษยโลก  พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้น
ว่าเทวดา"

พญานกยูงกล่าวกับเขาว่า
"สมณะและพราหมณ์เหล่าใดเป็นอเหตุกทิฏฐิ
ไม่พูดถึงกรรม
ไม่พูดถึงผลของกรรมดีกรรมชั่วด้วยเหมือนกัน
แต่สอนว่า  'ทานคนโง่บัญญัติไว้'
สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีทิฏฐิเลวทราม
ถูกกำจัดแล้วในเพราะการพยากรณ์ (ตอบ) เพียงเท่านี้"

(อเหตุกทิฏฐิ  คือพวกมีความเห็นผิด  กล่าวอย่างนี้ว่า  กรรมที่เป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์และความเศร้าหมองไม่มี)

บุตรนายพรานกำหนดได้แล้วจึงกล่าวว่า
"คำของท่านนั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
ทานจะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
กรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน  จะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
และทานคนโง่จะพึงบัญญัติขึ้นได้อย่างไร
พญานกยูง  ข้าพเจ้ากระทำกรรมอย่างไร  กระทำเพราะอะไร
ประพฤติอย่างไร  จะคบใคร  ผู้มีตบะคุณอย่างไร
ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า
โดยที่ข้าพเจ้าจะไม่ต้องตกนรก"

พญานกยูงกล่าวว่า
"บนพื้นแผ่นดินยังมีสมณะพวกใดพวกหนึ่งอยู่
สมณะเหล่านั้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์  เป็นบรรพชิต
เที่ยวบิณฑบาตเฉพาะเวลาเช้า
งดเว้นการบริโภคในเวลาวิกาล  เป็นสัตบุรุษ
ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้นตามกาลอันสมควร
แล้วจงถามข้อความตามที่ท่านพอใจ
สมณะเหล่านั้นจะชี้แจงข้อความอันเป็นประโยชน์
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าแก่ท่านตามที่รู้มา"

ครั้นพญานกยูงทองกล่าวอย่างนี้แล้ว  ขู่ให้กลัวภัยในนรก
บุตรนายพรานนี้เป็นพระปัจเจกโพธิสัตว์ผู้มีบารมีบำเพ็ญเต็มแล้ว  มีญาณอันแก่กล้าแล้ว
เป็นเหมือนดอกปทุมที่แก่แล้วชูก้าน  รอการถูกต้องของแสงอาทิตย์ฉะนั้น
เมื่อฟังธรรมกถาของพญานกยูงทอง  ยืนอยู่ในที่เดิมนั่นแหละ
กำหนดสังขารทั้งหลาย  พิจารณาไตรลักษณ์  บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว
การบรรลุของท่านและการพ้นจากบ่วงของพญานกยูงทองได้มีในขณะเดียวกันนั่นเอง

พระปัจเจกพุทธเจ้าทำลายกิเลสทั้งหลายแล้ว  ดำรงอยู่ในภพสุดท้ายแล้ว  ได้กล่าวคาถาว่า
"ความเป็นพรานนี้ข้าพเจ้าละได้แล้ว
เหมือนงูลอกคราบเก่าแก่ทิ้งไป
เหมือนต้นไม้สลัดใบเหลืองทิ้ง  เขียวชะอุ่มอยู่
ข้าพเจ้าละทิ้งความเป็นพรานได้ในวันนี้"

พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้นเปล่งกล่าวคาถานี้แล้ว  ดำริว่า
"เราพ้นจากเครื่องพัวพันคือกิเลสทั้งปวงได้แล้ว
แต่ในที่อยู่ของเรา  ยังมีนกถูกกักขังอยู่มาก
เราจักปลดปล่อยนกเหล่านั้นได้อย่างไร"

จึงถามพญานกยูงทองว่า
"พญานกยูงทองเอ๋ย  ในที่อยู่ของข้าพเจ้า  มีนกถูกกักขังอยู่เป็นอันมาก
ข้าพเจ้าจักปลดปล่อยนกเหล่านั้นได้อย่างไร"

พญานกยูงทอง (ซึ่งก็คือพระโพธิสัตว์) จึงกล่าวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า
"ปัจเจกโพธิญาณที่ท่านทำลายกิเลสทั้งปวงเสีย  แล้วบรรลุด้วยโพธิมรรคใด
โปรดปรารภโพธิมรรคนั้น  กระทำสัจจกิริยาเถิด
ชื่อว่าสัตว์ที่ถูกจองจำในชมพูทวีปทั้งสิ้นก็จักไม่มี"

พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงทำสัจจกิริยาว่า
"นกเหล่าใดที่ข้าพเจ้ากักขังไว้หลายร้อยตัวในเรือนของข้าพเจ้า
วันนี้  ข้าพเจ้าให้ทานชีวิตแก่นกเหล่านั้น
ขอให้นกเหล่านั้นจงหลุดพ้น  กลับไปยังที่อยู่ของตนเถิด"

ลำดับนั้น  นกทั้งปวงก็พ้นจากที่กักขัง  พอดีกันกับเวลาที่พระปัจเจกโพธิสัตว์นั้นกระทำสัจจกิริยานั่นเอง  ต่างร้องร่าเริงบินไปที่อยู่ของตนทั่วกัน

ก็แลในขณะนั้น  บรรดาสัตว์ในเหย้าเรือนทุกหนแห่ง  ตั้งต้นแต่แมวเป็นต้น  ในชมพูทวีปทั้งสิ้น  ที่จักได้ชื่อว่าสัตว์ต้องกักขังมิได้มีเลย

พระปัจเจกพุทธเจ้ายกมือลูบศีรษะ  ทันใดนั้นเอง  เพศคฤหัสถ์ก็หายไป  เพศบรรพชิตปรากฏแทน
ท่านเป็นเหมือนพระเถระมีพรรษา ๖๐  สมบูรณ์ด้วยมารยาท  ทรงอัฏฐบริขาร
กล่าวกับพญานกยูงทองว่า  "ท่านเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า"
ประคองอัญชลีแก่พญานกยูงทอง  กระทำประทักษิณ  เหาะขึ้นสู่อากาศไปสู่เงื้อมผาชื่อนันทมูล

ฝ่ายพญานกยูงทองก็โดดจากปลายคันแร้ว  หาอาหารกิน  แล้วไปสู่ที่อยู่ของตนดังเดิม

บัดนี้  พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความที่นายพรานแม้จะถืบ่วงเที่ยวไปตั้ง ๗ ปี  ได้อาศัยพญานกยูงทอง  จึงพ้นจากทุกข์ได้  จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า
"นายพรานถือบ่วงเที่ยวไปในป่า
เพื่อจะจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศ
ครั้นจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศได้แล้ว
เขาได้พ้นจากทุกข์  เหมือนเราตถาคตได้พ้นแล้ว"

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสจบลงแล้ว  ทรงประกาศสัจธรรม
ในเวลาจบสัจธรรม  ภิกษุผู้กระสันดำรงในพระอรหัต

พระศาสดาทรงประชุมชาดกว่า
"พระปัจเจกพุทธเจ้าในครั้งนั้น  ปรินิพพาน
ส่วนพญานกยูงทอง  ได้มาเป็นเราตถาคต  ฉะนี้แล"


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)