เกสปุตติสูตร (อังคุตตรนิกาย > ติกนิบาต > ทุติยปัณณาสก์ > มหาวรรค)


เกสปุตติสูตร  (ว่าด้วยกาลามะชาวเกสปุตตนิคม)

สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่  เสด็จถึงตำบลของพวกกาลามะชื่อว่าเกสปุตตนิคม

พวกกาลามะชาวเกสปุตตนิคมได้ทราบว่า
"ข่าวว่า  ท่านพระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล  เสด็จถึงเกสปุตตนิคมโดยลำดับแล้ว
ท่านพระสมณโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า
'แม้เพราะเหตุนี้  พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ  เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  เสด็จไปดี  รู้แจ้งโลก  เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม  เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เป็นพระพุทธเจ้า  เป็นพระผู้มีพระภาค'
พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก  มารโลก  พรหมโลกและหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์  เทวดา  และมนุษย์ด้วยพระองค์เอง  แล้วจึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น  มีความงามในท่ามกลาง  และมีความงามในที่สุด
ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน'
การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง"

ลำดับนั้น  พวกกาลามะชาวเกสปุตตนิคมเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
บางพวกถวายอภิวาท  แล้วนั่ง  ณ  ที่สมควร
บางพวกสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกัน  แล้วนั่ง  ณ  ที่สมควร
บางพวกประนมมือไหว้ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  แล้วนั่ง  ณ  ที่สมควร
บางพวกประกาศชื่อและโคตร  แล้วนั่ง  ณ  ที่สมควร
บางพวกนั่งนิ่งอยู่  ณ  ที่สมควร


[ สงสัยในวาทะของลัทธิต่าง ๆ ]
พวกกาลามะชาวเกสปุตตนิคมผู้นั่ง  ณ  ที่สมควร  ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม  แสดงประกาศวาทะ  (หมายถึงลัทธิ  คือคติความเชื่อถือหรือความคิดเห็น)  ของตนเท่านั้น  แต่กระทบกระเทียบ  ดูหมิ่น  กล่าวข่มวาทะของผู้อื่น  ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม  แสดงประกาศวาทะของตนเท่านั้น  แต่กระทบกระเทียบ  ดูหมิ่น  กล่าวข่มวาทะของผู้อื่น  ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความสงสัยลังเลใจในสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า  'บรรดาท่านสมณพราหมณ์เหล่านี้  ใครพูดจริง  ใครพูดเท็จ"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"กาลามะชนทั้งหลาย  ก็สมควรที่ท่านทั้งหลายจะสงสัย  สมควรที่จะลังเลใจ
ท่านทั้งหลายเกิดความสงสัยลังเลใจในฐานะที่ควรสงสัยอย่างแท้จริง

[ พิจารณาว่าเป็นอกุศลหรือไม่ ]
มาเถิด  กาลามะทั้งหลาย  ท่านทั้งหลาย
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ  (การคิดเอาเอง)
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีของตน
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา

กาลามะทั้งหลาย
เมื่อใด  ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า  'ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล  ธรรมเหล่านี้มีโทษ  ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน  ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล  เพื่อทุกข์'
เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย

กาลามะทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร  คือ
โลภะ / โทสะ / โมหะ (ความอยากได้ / ความคิดประทุษร้าย / ความหลง) เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล  ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล"
"ไม่เกื้อกูล  พระพุทธเจ้าข้า"
"กาลามะทั้งหลาย  ก็บุรุษบุคคลผู้มีโลภะ / โทสะ / โมหะนี้  ถูกโลภะ / โทสะ / โมหะครอบงำ  มีจิตถูกโลภะ / โทสะ / โมหะกลุ้มรุม
เขาย่อมฆ่าสัตว์บ้าง  ลักทรัพย์บ้าง  ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นบ้าง  พูดเท็จบ้าง  ชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูลเพื่อทุกข์บ้างไหม"
"อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

"กาลามะทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร  คือ  ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล"
"เป็นอกุศล  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ"
"เป็นธรรมที่มีโทษ  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ"
"เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียน  พระพุทธเจ้าข้า"
"ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล  เพื่อทุกข์หรือไม่  หรือท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไร”
"ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล  เพื่อทุกข์  ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างนี้  พระพุทธเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"กาลามะทั้งหลาย  เพราะเหตุนี้แล  เราจึงได้กล่าวไว้ว่า
'มาเถิด  กาลามะทั้งหลาย  ท่านทั้งหลาย
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา
กาลามะทั้งหลาย  เมื่อใด  ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า  'ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล  ธรรมเหล่านี้มีโทษ  ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน  ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล  เพื่อทุกข์'
เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย'
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้นั้น  เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น


[ พิจารณาว่าเป็นกุศลหรือไม่ ]
มาเถิด  กาลามะทั้งหลาย  ท่านทั้งหลาย
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ  (การคิดเอาเอง)
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีของตน
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา

กาลามะทั้งหลาย
เมื่อใด  ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า  'ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล  ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ  ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ  ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุข'
เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่

กาลามะทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร  คือ
อโลภะ / อโทสะ / อโมหะ (ความไม่อยากได้ / ความไม่คิดประทุษร้าย / ความไม่หลง)  เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล  ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล"
"เกื้อกูล  พระพุทธเจ้าข้า"
"กาลามะทั้งหลาย  ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโลภะ / ไม่มีโทสะ / ไม่มีโมหะนี้  ไม่ถูกโลภะ / โทสะ / โมหะครอบงำ  มีจิตไม่ถูกโลภะ / โทสะ / โมหะกลุ้มรุม  เขาย่อมไม่ฆ่าสัตว์  ไม่ลักทรัพย์  ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น  ไม่พูดเท็จ  ชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล  เพื่อสุขบ้างหรือ”
"อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

"กาลามะทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร  คือธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล"
"เป็นกุศล  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ"
"เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ"
"เป็นธรรมที่ผู้รู้สรรเสริญ  พระพุทธเจ้าข้า"
"ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขหรือไม่  หรือท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไร"
"ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุข
ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างนี้  พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"กาลามะทั้งหลาย  เพราะเหตุนี้แล  เราจึงได้กล่าวไว้ว่า
'มาเถิด  กาลามะทั้งหลาย  ท่านทั้งหลาย
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา
กาลามะทั้งหลาย  เมื่อใด  ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า  ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล  ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ  ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ  ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุข
เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่'
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้นั้น  เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น


[ เจริญพรหมวิหาร ]
กาลามะทั้งหลาย
อริยสาวกนั้นปราศจากอภิชฌา  ปราศจากพยาบาท  ไม่ลุ่มหลง  มีสัมปชัญญะ  มีสติมั่นคง
มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑  ทิศที่ ๒  ทิศ ๓  ทิศที่ ๔  ทิศเบื้องบน  ทิศเบื้องล่าง  ทิศเฉียง  แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน  ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์  เป็นมหัคคตะ  ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิต  ฯลฯ
มีมุทิตาจิต  ฯลฯ
มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑  ทิศที่ ๒  ทิศที่ ๓  ทิศที่ ๔  ทิศเบื้องบน  ทิศเบื้องล่าง  ทิศเฉียง  แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน  ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์  เป็นมหัคคตะ  ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่


[ บรรลุความเบาใจ  ๔  ประการ ]
กาลามะทั้งหลาย
อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้  มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้  มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้  มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้
เธอบรรลุความเบาใจ  ๔  ประการในปัจจุบัน  คือ
๑. ถ้าโลกหน้ามี  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี
เป็นไปได้ที่เรื่องนั้นจะเป็นเหตุให้เราหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
นี้คือความเบาใจประการที่  ๑  ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
๒. ถ้าโลกหน้าไม่มี  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี
เราก็รักษาตนไม่ให้มีเวร  ไม่ให้มีความเบียดเบียน  ไม่ให้มีทุกข์  ให้มีสุขในปัจจุบันในโลกนี้ได้
นี้คือความเบาใจประการที่  ๒  ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
๓. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าทำบาป
เราไม่เจาะจงบาปไว้เพื่อใคร ๆ เลย
เมื่อเราไม่ทำบาปเลย  ความทุกข์จะถูกต้องเราได้อย่างไร
นี้คือความเบาใจประการที่  ๓  ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
๔. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าไม่ทำบาป
เราก็พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ทั้ง  ๒  ส่วนในโลกนี้
นี้คือความเบาใจประการที่  ๔  ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

กาลามะทั้งหลาย
อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้  มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้  มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้  มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้  อริยสาวกนั้นชื่อว่าบรรลุความเบาใจ  ๔  ประการนี้ในปัจจุบัน"


[ ขอเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ]
พวกกาลามะกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  เรื่องนั้นเป็นอย่างนี้
ข้าแต่พระสุคต  เรื่องนั้นเป็นอย่างนี้
พระอริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้  มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้  มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้  มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้  พระอริยสาวกนั้นบรรลุความเบาใจ  ๔  ประการในปัจจุบัน  คือ
๑. ถ้าโลกหน้ามี  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี
เป็นไปได้ที่เรื่องนั้นจะเป็นเหตุให้เราหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
นี้คือความเบาใจประการที่  ๑  ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
๒. ถ้าโลกหน้าไม่มี  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี
เราก็รักษาตนไม่ให้มีเวร  ไม่ให้มีความเบียดเบียน  ไม่ให้มีทุกข์  ให้มีสุขในปัจจุบันในโลกนี้ได้
นี้คือความเบาใจประการที่  ๒  ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
๓. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าทำบาป
เราไม่เจาะจงบาปไว้เพื่อใคร ๆ เลย
เมื่อเราไม่ทำบาปเลย  ความทุกข์จะถูกต้องเราได้อย่างไร
นี้คือความเบาใจประการที่  ๓  ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
๔. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าไม่ทำบาป
เราก็พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ทั้ง  ๒  ส่วนในโลกนี้
นี้คือความเบาใจประการที่  ๔  ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระอริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้  มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้  มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้  มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้  พระอริยสาวกนั้นชื่อว่าบรรลุความเบาใจ  ๔  ประการนี้ในปัจจุบัน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่าคนมีตาดีจักเห็นรูปได้
ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค  พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต"

เกสปุตติสูตร  จบ



บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)