กัจจานิชาดก (ขุททกนิกาย > ชาดก > อัฏฐกนิบาต > กัจจานิวรรค)



กัจจานิชาดก  (ว่าด้วยนางกัจจานี)

ท้าวสักกะ (แปลงเป็นพราหมณ์) ตรัสถามนางกัจจานีว่า  "แม่กัจจานี  เจ้านุ่งห่มผ้าขาวสะอาด  มีผมเปียกชุ่ม  ยกหม้อขึ้นตั้งบนเตา  ซาวข้าวสารและงาป่น  ข้าวสุกคลุกงาจักมีไว้เพื่อเหตุอะไร"

นางกัจจานีตอบว่า  "พราหมณ์  ข้าวสุกคลุกงาที่สุกดีแล้ว  จักมีไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับตนเองก็หามิได้  แต่เพราะธรรมะได้ตายแล้ว  วันนี้  ข้าพเจ้าจักทำบุญอุทิศให้ธรรมะกลางป่าช้านี้"

ท้าวสักกะตรัสว่า  "แม่กัจจานี  เจ้าจงใคร่ครวญแล้วจึงทำ  ใครหนอบอกเจ้าว่าธรรมะได้ตายแล้ว  ท้าวสหัสนัยน์ผู้มีอานุภาพล้นบอกไว้ว่าธรรมะอันประเสริฐย่อมไม่ตายในกาลไหนๆ"

นางกัจจานีกล่าวว่า  "พราหมณ์  ข้าพเจ้ามั่นใจในข้อนี้ว่าธรรมะได้ตายแล้ว  ข้าพเจ้าไม่มีความสงสัย  เพราะเดี๋ยวนี้  คนชั่วกลับเป็นอยู่สบาย  เหมือนอย่างลูกสะใภ้ของข้าพเจ้าเป็นหมัน  หล่อนทุบตีขับไล่ข้าพเจ้า  บัดนี้นางกลับได้บุตรแล้ว  เดี๋ยวนี้นางเป็นใหญ่ในตระกูลทั้งหมด  ส่วนข้าพเจ้ากลับถูกทอดทิ้งอยู่อย่างเดียวดาย"

ท้าวสักกะตรัสว่า  "เรายังมีชีวิตอยู่  ยังไม่ตาย  เรามาที่นี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าโดยเฉพาะ  ลูกสะใภ้คนใดทุบตีขับไล่เจ้าแล้วได้กลับบุตร  เราจะทำนางพร้อมกับบุตรให้เป็นเถ้าธุลีทีเดียว"

นางกัจจานีกล่าวว่า  "ข้าแต่เทวราช  หากพระองค์ทรงพอพระทัยเสด็จมาที่นี้เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉันโดยเฉพาะ  ขอหม่อมฉัน  ลูกชาย  ลูกสะใภ้  และหลาน  จงได้อยู่ร่วมกันด้วยความบันเทิงใจเถิด"

ท้าวสักกะตรัสว่า  "แม่กาติยานี  หากเจ้าพอใจเช่นนั้น  แม้จะถูกทุบตีขับไล่  ก็อย่าละธรรมคือความเมตตา  ขอให้เจ้า  ลูกชาย  ลูกสะใภ้  และหลาน  จงอยู่ร่วมกันด้วยความบันเทิงใจเถิด"

"นางกาติยานีนั้นกับลูกสะใภ้ได้มีใจบันเทิงอยู่ร่วมกัน
ลูกชายและหลานก็ได้ช่วยกันปฏิบัติบำรุง
เพราะท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพได้ทรงอนุเคราะห์"

กัจจานิชาดก  จบ

อรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่  ณ  พระเชตวันมหาวิหาร  ทรงปรารภอุบาสกผู้เลี้ยงมารดาคนหนึ่ง  จึงได้ตรัสเรื่องนี้
ได้ยินว่า  อุบาสกผู้เลี้ยงมารดานั้นเป็นลูกผู้ดีเมืองสาวัตถี  เป็นคนมีมารยาทดี  เมื่อบิดาตายแล้ว  เขาบูชามารดาเหมือนเทวดา  บำรุงมารดาด้วยการขวนขวายจัดน้ำล้างเท้า  น้ำบ้วนปาก  ไม้สีฟัน  น้ำอาบ  เป็นต้น  และด้วยข้าวยาคูและภัตเป็นอาทิ

วันหนึ่ง  มารดากล่าวกะเขาว่า  "ลูกรัก  เจ้ามีการงานซึ่งเป็นเรื่องของฆราวาสมากมาย  จงพาหญิงที่มีตระกูลเสมอกันคนหนึ่งมาเป็นภรรยา  นางจะเลี้ยงดูแม่  ส่วนเจ้าจะได้ทำการงานของตนไป"

เขากล่าวว่า  "แม่  ฉันหวังประโยชน์สุขสำหรับตน  จึงบำรุงเลี้ยงแม่  คนอื่นใครเล่าจะบำรุงเลี้ยงได้อย่างนี้"
มารดากล่าวว่า  "ลูกรัก  เจ้าควรทำการงานที่ให้ตระกูลเจริญ"
เขากล่าวว่า  "ฉันไม่ต้องการครองเรือน  ฉันจะบำรุงเลี้ยงแม่  เวลาแม่สิ้นชีพแล้วฉํนจะออกบวช"
ลำดับนั้น  แม้มารดาของเขาอ้อนวอนเขาบ่อยๆ  ก็ไม่ได้ดังใจ  จึงไม่ถือความพอใจของเขาเป็นเกณฑ์  ได้นำหญิงที่มีชาติตระกูลเสมอกันมาให้เขา
เขาก็ไม่อาจคัดค้านมารดา  จึงได้อยู่ร่วมกันกับหญิงนั้น

ฝ่ายหญิงนั้นคิดว่า  "สามีของเราบำรุงเลี้ยงมารดาด้วยความอุตสาหะอันยิ่งใหญ่  แม้เราก็ควรจะบำรุงเลี้ยงท่าน  เมื่อเราทำอย่างนี้ก็จะเป็นที่รักของสามี"

คิดดังนี้แล้ว  ก็บำรุงแม่ผัวโดยเคารพ
อุบาสกผู้เลี้ยงมารดาเห็นพฤติกรรมนั้นแล้ว  ก็คิดว่า  "หญิงนี้บำรุงเลี้ยงมารดาของเราโดยเคารพ"  นับแต่นั้นมา  เขาจึงได้ให้ของกินที่มีรสอร่อยที่ได้มาแก่นางผู้เดียว

ครั้นเวลาต่อมา  หญิงนั้นคิดว่า  "สามีของเราให้ของกินที่มีรสอร่อยที่ได้มาแก่เราเท่านั้น  เขาคงจะต้องการขับไล่มารดาเป็นแน่  เราจะทำอุบายขับไล่นาง"

หญิงนั้นลืมตัวคิดไปโดยไม่ไตร่ตรองอย่างนี้

วันหนึ่ง  นางจึงบอกสามีว่า  "คุณพี่  เมื่อพี่ออกไปข้างนอก  มารดาของพี่ด่าฉัน"

เขาได้นิ่งเสีย
นางคิดว่า  "เราจะใส่โทษหญิงแก่นี้  ทำให้เป็นที่น่ารังเกียจแก่ลูกชาย"

ตั้งแต่นั้นมา  เมื่อนางจะให้ข้าวยาคูแก่มารดา  ก็ให้ที่ร้อนจัดบ้าง  เย็นจัดบ้าง  ไม่เค็มบ้าง  เค็มจัดบ้าง

เมื่อแม่ผัวบอกว่า  "แม่หนู  ข้าวยาคูร้อนจัด  เค็มจัด"
นางก็เติมน้ำเย็นใส่เสียจนเต็ม
เมื่อแม่ผัวบอกว่า  "เย็นมากไป  เค็มมากไป"
นางก็ส่งเสียงขึ้นว่า  "เมื่อกี้แม่บอกว่า  ร้อนจัด  เค็มจัด  ใครจะสามารถทำให้ถูกใจแม่ได้"

แม้น้ำสำหรับอาบ  นางก็ต้มจนร้อนจัดแล้วราดบนหลัง

เมื่อแม่ผัวบอกว่า  "แม่หนู  หลังแม่ไหม้หมดแล้ว"
นางก็เอาน้ำเย็นเติมใส่เสียจนเต็ม
เมื่อแม่ผัวบอกว่า  "เย็นไป  แม่หนู"
นางก็เที่ยวพูดกับชาวบ้านว่า  "แม่ผัวฉันพูดว่า  น้ำสำหรับอาบร้อนจัดอยู่เดี๋ยวนี้  แล้วกลับร้องขึ้นอีกว่าเย็นไป  ใครจะสามารถเอาใจหญิงแก่คนนี้ได้"

เมื่อแม่ผัวบอกวา่  "แม่หนู  เตียงนอนของแม่มีตัวเรือดชุม"

นางก็นำออกมา  แล้วเอาเตียงของตนเคาะลงบนเตียงนั้น  บอกว่า  "ฉันเคาะแล้ว"  แล้วก็นำกลับไปตั้งไว้ตามเดิม
แม่ผัวถูกเรือดกัด  ต้องนั่งอยู่ตลอดคืน
พอรุ่งสว่าง  จึงพูดว่า  "แม่หนู  ฉันถูกตัวเรือดกัดตลอดคืน"
นางก็เถียงว่า  "เมื่อวานฉันก็ได้เคาะเตียงของแม่แล้ว  ใครจะทำการงานของคนเช่นนี้ได้"

นางคิดว่า  "คราวนี้  เราจะให้ลูกชายเขาใส่โทษ"

จึงแกล้งบ้วนน้ำลาย  สั่งน้ำมูก  เรี่ยราดไว้ในที่ต่างๆ
เมื่อสามีถามว่า  "ใครทำเรือนนี้ให้สกปรกไปหมด"
นางก็กล่าวว่า  "มารดาของท่านทำอย่างนี้  ฉันบอกว่าอย่าทำเลย  ก็พาลทะเลาะ  ฉันไม่อาจอยู่ร่วมเรือนกับมารดาของท่านได้  เรือนนี้ท่านจะให้มารดาของท่านอยู่  หรือจะให้ฉันอยู่"
อุบาสกได้ฟังคำของนางแล้ว  กล่าวว่า
"น้องรัก  เธอยังสาวอยู่  อาจที่จะไปดำรงชีพอยู่ในที่ใดๆก็ได้
ส่วนแม่ของฉันเป็นคนแก่ทุพพลภาพ  ฉันเท่านั้นเป็นที่พึ่งของแม่
เธอจงออกจากบ้านนี้ไปสู่ตระกูลของตนเถิด"

นางได้ฟังคำของสามีแล้ว  เกิดความกลัวขึ้น  คิดว่า  "เราไม่อาจแยกสามีของเราจากมารดาได้  มารดาเป็นที่รักของเขาโดยส่วนเดียว  ถ้าเราไปเรือนแห่งตระกูล  เราจะต้องอยู่อย่างเป็นหม้าย  ได้รับแต่ความทุกข์เท่านั้น  เราจะปฏิบัติให้แม่ผัวโปรดปรานเหมือนแต่ก่อน"

ตั้งแต่นั้นมา  นางได้ปฏิบัติแม่ผัวเหมือนดังก่อนทีเดียว

อยู่มาวันหนึ่ง  อุบาสกผู้เลี้ยงมารดานั้นไปสู่พระวิหารเชตวันเพื่อฟังพระธรรม  ได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง  ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระบรมศาสดาตรัสถามว่า  "อุบาสก  เธอไม่ประมาทในบุญกรรมอยู่หรือ  เธอบำเพ็ฐมาตาปิตุปัฏฐานกิจ (การบำรุงมารดาบิดา) อยู่หรือ"
เขาจึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดแด่พระศาสดาว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  มารดาของข้าพระองค์นำหญิงผู้ดีคนหนึ่งมาเพื่อข้าพระองค์  โดยที่ข้าพระองค์ไม่ชอบใจเลย  นางนั้นได้ทำไม่สมควรต่างๆ  ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ถึงอย่างนั้น  นางก็ไม่อาจจะแยกข้าพระองค์จากมารดาได้  เดี๋ยวนี้นางได้บำรุงเลี้ยงมารดาโดยเคารพแล้ว  พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของอุบาสกนั้นแล้ว  มีพระดำรัสว่า  "อุบาสก  เดี๋ยวนี้เธอไม่กระทำตามคำของหญิงนั้น  แต่ในครั้งก่อน  เธอได้ขับไล่มารดาของเธอตามคำของนาง  ถึงอย่างนั้น  เพราะได้อาศัยเรา  จึงได้นำมารดากลับมาสู่เรือนบำรุงเลี้ยงอีก"

อุบาสกนั้นทูลอาราธนาให้ตรัสเล่าเรื่องราว  พระศาสดาจึงได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี  กุลบุตรของตระกูลหนึ่ง  เมื่อบิดาตายแล้ว  เขาบูชามารดาเหมือนเทวดา  ปฏิบัติมารดาโดยทำนองดังกล่าวแล้ว  เรื่องทั้งหมดมีเนื้อความเหมือนเหตุการณ์ในชาติปัจจุบัน


จับความตอนนี้ว่า  ก็เมื่อหญิงนั้นกล่าวกะสามีว่า  "ฉันไม่อาจอยู่ร่วมกับหญิงกาลกิณีเช่นนี้ได้  เรือนนี้พี่จะให้มารดาของพี่อยู่  หรือจะให้ฉันอยู่"

กุลบุตรนั้นเชื่อถ้อยคำของหญิงนั้น  คิดว่าเป็นความผิดของมารดา  จึงกล่าวกะมารดาว่า  "แม่  แม่ก่อการทะเลาะขึ้นในเรือนเป็นนิตย์  แม่จงออกจากเรือนนี้ไปอยู่ในที่อื่นตามชอบใจเถิด"
มารดาของเขาร้องไห้ออกจากบ้านไปอาศัยตระกูลที่เป็นเพื่อนกันตระกูลหนึ่ง  ทำงานรับจ้างเขา  เลี้ยงชีพอยู่ด้วยความลำบาก

ต่อมา  เมื่อลูกสะใภ้ทำการทะเลาะกับแม่ผัวในเรือนจนแม่ผัวออกจากบ้านไปแล้ว  นางก็ได้ตั้งครรภ์

นางบอกกับสามีและเที่ยวพูดกับชาวบ้านว่า  "เมื่อหญิงกาลกิณีนั้นอยู่ในเรือน  ฉันไม่ได้ตั้งครรภ์  แต่เดี๋ยวนี้ฉันได้มีครรภ์แล้ว"
ต่อมา  นางคลอดบุตรแล้วกล่าวกะสามีว่า  "เมื่อมารดาของท่านอยู่ในเรือน  ฉันไม่ได้บุตร  เดี๋ยวนี้ฉันได้แล้ว  ท่านจงรู้ว่ามารดาของท่านเป็นกาลกิณีด้วยเหตุนี้เถิด"

ฝ่ายหญิงผู้เป็นมารดาเมื่อได้ข่าวว่า  "เขาว่ากันว่า  หญิงสะใภ้ได้บุตรในเวลาที่เราถูกไล่ออกจากบ้าน"  จึงคิดว่า  "ในโลกนี้  ธรรมคงจักสูญไปแน่แล้ว  ถ้าธรรมยังไม่สูญ  ผู้ที่โบยตีมารดาแล้วขับไล่ออกจากบ้าน  ไม่ควรได้บุตร  ไม่ควรเป็นอยู่อย่างสบาย  เราจะถวายมตกภัตแก่ธรรม"

(มตกภัต = อาหารที่ถวายอุทิศกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว)

วันหนึ่ง  นางถืองา  แป้ง  ข้าวสาร  ถาดสำหรับนึ่ง  และทัพพี  ไปป่าช้า  เอาศีรษะมนุษย์สามศีรษะมาทำเตา  ก่อไฟขึ้น  แล้วลงน้ำสระหัว  บ้วนปาก  เสร็จแล้วมาที่เตา  สยายผม  แล้วเริ่มซาวข้าวสาร


ครั้งนั้น  พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์)

ธรรมดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท  ขณะนั้น  พระองค์ตรวจดูหมู่สัตว์โก  เห็นหญิงผู้เป็นมารดานั้นกำลังมีความทุกข์  ประสงค์จะถวายมตกภัตแก่ธรรม  ด้วยเข้าใจว่าธรรมได้สูญเสียแล้ว  จึงทรงดำริว่า  "วันนี้  เราจะแสดงกำลังของเรา"
จึงได้แปลงเพศเป็นพราหมณ์  ทำเป็นเดินทางไปในป่าช้านั้น

ครั้นเห็นหญิงนั้น  จึงแวะไปยืนใกล้นาง  แล้วกล่าวว่า


"แม่กัจจานี  เจ้านุ่งห่มผ้าขาวสะอาด  มีผมเปียกชุ่ม  ยกหม้อขึ้นตั้งบนเตา  ซาวข้าวสารและงาป่น  ข้าวสุกคลุกงาจักมีไว้เพื่อเหตุอะไร"

ลำดับนั้น  หญิงนั้นกล่าวว่า
"พราหมณ์  ข้าวสุกคลุกงาที่สุกดีแล้ว  จักมีไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับตนเองก็หามิได้  แต่เพราะธรรมะ (คือความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่  และธรรมคือสุจริต  ๓  ประการ  ได้แก่กายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต) ได้ตายแล้ว  วันนี้  ข้าพเจ้าจักทำบุญอุทิศให้ธรรมะกลางป่าช้านี้"

ท้าวสักกเทวราชจึงได้ตรัสกับนางว่า
"แม่กัจจานี  เจ้าจงใคร่ครวญแล้วจึงทำ  ใครหนอบอกเจ้าว่าธรรมะได้ตายแล้ว  ท้าวสหัสนัยน์ (พระอินทร์) ผู้มีอานุภาพล้นบอกไว้ว่าธรรมะอันประเสริฐย่อมไม่ตายในกาลไหนๆ"

นางได้ฟังดังนั้นแล้ว  จึงได้กล่าวว่า
"พราหมณ์  ข้าพเจ้ามั่นใจในข้อนี้ว่าธรรมะได้ตายแล้ว  ข้าพเจ้าไม่มีความสงสัย  เพราะเดี๋ยวนี้  คนชั่วกลับเป็นอยู่สบาย  เหมือนอย่างลูกสะใภ้ของข้าพเจ้าเป็นหมัน  หล่อนทุบตีขับไล่ข้าพเจ้า  บัดนี้นางกลับได้บุตรแล้ว  เดี๋ยวนี้นางเป็นใหญ่ในตระกูลทั้งหมด  ส่วนข้าพเจ้ากลับถูกทอดทิ้งอยู่อย่างเดียวดาย"

ต่อแต่นั้น  ท้าวสักกะจึงตรัสว่า
"เรายังมีชีวิตอยู่  ยังไม่ตาย  เรามาที่นี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าโดยเฉพาะ  ลูกสะใภ้คนใดทุบตีขับไล่เจ้าแล้วได้กลับบุตร  เราจะทำนางพร้อมกับบุตรให้เป็นเถ้าธุลีทีเดียว"

นางได้ฟังดังนั้นแล้วตกใจ  คิดว่า  "เราพูดอะไรไปนี่  เราจะช่วยให้หลานของเราไม่ตาย"  จึงกล่าวด้วยความเมตตาว่า
"ข้าแต่เทวราช  หากพระองค์ทรงพอพระทัยเสด็จมาที่นี้เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉันโดยเฉพาะ  ขอหม่อมฉัน  ลูกชาย  ลูกสะใภ้  และหลาน  จงได้อยู่ร่วมกันด้วยความบันเทิงใจเถิด"

ลำดับนั้น  ท้าวสักกเทวราชจึงได้ตรัสกับนางว่า
"แม่กาติยานี  หากเจ้าพอใจเช่นนั้น  แม้จะถูกทุบตีขับไล่  ก็อย่าละธรรมคือความเมตตา  (เราเลื่อมใสในคุณธรรมนี้ของเจ้า)  ขอให้เจ้า  ลูกชาย  ลูกสะใภ้  และหลาน  จงอยู่ร่วมกันด้วยความบันเทิงใจเถิด"

ก็แลท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว  ก็ประดับตกแต่งพระองค์  ประทับยืนอยู่บนอากาศด้วยอานุภาพของพระองค์  แล้วตรัสว่า
"แม่กัจจานี  เจ้าอย่ากลัวเลย  ด้วยอานุภาพของเรา  ทั้งลูกและลูกสะใภ้ของเจ้าจะมาขอขมาโทษ  แล้วจะพาเจ้ากลับไป  เจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาท"
ดังนี้แล้ว  เสด็จกลับไปสู่วิมานของพระองค์

ด้วยอานุภาพของท้าวสักกเทวราช  บันดาลให้ลูกและลูกสะใภ้ระลึกถึงคุณของมารดา  เขาเหล่านั้นพากันเที่ยวถามว่า  "มารดาของเราไปไหน"
ครั้นได้ทราบว่าไปป่าช้า  จึงพากันเดินทางไป  พลางรำพันว่า  "แม่  แม่"
พอเห็นมารดา  ก็หมอบลงที่เท้า  กล่าวขอขมาโทษว่า  "แม่  ขอแม่ได้โปรดยกโทษให้แก่ลูกเถิด  ขออย่าได้ถือโทษเลย"
มารดาได้รับหลานมาอุ้ม  ชนทั้งหมดต่างมีความปราโมทย์  พากันกลับบ้าน  อยู่กันด้วยความสามัคคีตั้งแต่นั้นมา  ด้วยประการฉะนี้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอภิสัมพุทธคาถานี้ว่า
"นางกาติยานีนั้นกับลูกสะใภ้ได้มีใจบันเทิงอยู่ร่วมกัน
ลูกชายและหลานก็ได้ช่วยกันปฏิบัติบำรุง
เพราะท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพได้ทรงอนุเคราะห์"

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสจบลงแล้ว  ทรงประกาศสัจธรรม
ในเวลาจบสัจธรรม  อุบาสกผู้เลี้ยงมารดานั้นได้เป็นพระโสดาบัน

พระศาสดาทรงประชุมชาดกว่า
"อุบาสกผู้เลี้ยงมารดาในครั้งนั้น  ได้มาเป็นอุบาสกผู้เลี้ยงมารดาในบัดนี้
แม้ภรรยาของเขาในครั้งนั้น  ได้มาเป็นภรรยาในบัดนี้
ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น  ได้มาเป็นเราตถาคต  ฉะนี้แล"


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)