นามสิทธิชาดก (ขุททกนิกาย > ชาดก > เอกกนิบาต > ลิตตวรรค)



นามสิทธิชาดก  (ว่าด้วยชื่อไม่เป็นของสำคัญ)

พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาว่า
"เพราะเห็นคนชื่อเป็นอยู่  ได้ตายไป
หญิงชื่อมีทรัพย์  กลับตกยาก
และคนชื่อชำนาญทาง  กลับหลงทางในป่า
เจ้าปาปกะจึงกลับมา"

นามสิทธิชาดก  จบ

อรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่  ณ  พระเชตวันมหาวิหาร  ทรงปรารภภิกษุผู้หวังความสำเร็จโดยชื่อรูปหนึ่ง  จึงได้ตรัสเรื่องนี้
ได้ยินว่า  กุลบุตรผู้หนึ่งโดยนาม  ชื่อว่า  'ปาปกะ'  บวชถวายชีวิตในพระศาสนา
เมื่อถูกพวกภิกษุด้วยกันเรียกว่า  "มาเถิด  อาวุโสปาปกะ  หยุดเถิด  อาวุโสปาปกะ"

เขาคิดว่า  "ในโลก  ผู้ที่มีชื่อว่า  ปาปกะ  เขากล่าวกันว่าลามก  เป็นตัวกาลกิณี  เราต้องให้พระอุปัชฌาย์อาจารย์หาชื่อที่ประกอบไปด้วยมงคลอย่างอื่น"

เขาเข้าไปหาอุปัชฌาย์อาจารย์  กราบเรียนว่า  "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ชื่อของผมเป็นอัปมงคล  กรุณาตั้งชื่ออย่างอื่นให้กระผมเถิด"
ครั้งนั้น  อาจารย์และอุปัชฌาย์ก็กล่าวกับเธออย่างนี้ว่า  "ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน  ขึ้นชื่อว่าความสำเร็จประโยชน์ไรๆ  มิได้มีเพราะชื่อเลย  เธอจงพอใจชื่อของตนนั้นเถิด"
แต่เขาคงยังอ้อนวออยู่ร่ำไป
ความที่เขามุ่งความสำเร็จโดยชื่อนี้  ได้แพร่หลายกระจายไปในหมู่สงฆ์

อยู่มาวันหนึ่ง  ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในธรรมสภา  ตั้งเรื่องสนทนากันว่า

"ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย  ได้ยินว่า  ภิกษุรูปโน้นมุ่งความสำเร็จโดยชื่อ  ขอให้ช่วยหาชื่อที่เป็นมงคลให้"
ครั้งนั้น  พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่ธรรมสภา  ตรัสถามว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร"
เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว  พระศาสดาตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น  แม้ในกาลก่อน  ภิกษุรูปโน้นก็มุ่งความสำเร็จเพราะชื่อเหมือนกัน"
แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์  บอกมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คนในพระนครตักกสิลา

มาณพผู้หนึ่งของท่าน  ชื่อ  ปาปกะ  โดยนาม
ถูกเขาเรียกอยู่ว่า  "มาเถิด  ปาปกะ  ไปเถิด  ปาปกะ"
คิดว่า  "ชื่อของเราเป็นอัปมงคล  ต้องขอให้อาจารย์ตั้งชื่ออื่นให้ใหม่"
เขาไปหาอาจารย์  กราบเรียนว่า  "ท่านอาจารย์ขอรับ  ชื่อของกระผมเป็นอัปมงคล  โปรดตั้งชื่ออย่างอื่นให้กระผมเถิดขอรับ"
ครั้งนั้น  อาจารย์ได้กล่าวกะเขาว่า  "ไปเถิดพ่อ  เจ้าจงเที่ยวไปตามที่่ต่างๆ  แล้วกำหนดเอาชื่อที่เป็นมงคลชื่อหนึ่งที่เจ้าชอบใจอย่างยิ่ง  แล้วกลับมา  เราจะเปลี่ยนชื่อของเจ้าเป็นชื่ออย่างอื่น"
เขารับคำว่า  "ดีแล้ว  ขอรับ"
แล้วถือเสบียงออกเดินทางไป  ท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ  จนถึงนครแห่งหนึ่ง

ในพระนครนั้น  มีบุรุษผู้หนึ่งชื่อว่า  ชีวกะ (มีชีวิต) โดยนาม  ถึงแก่ความตาย  หมู่ญาติกำลังหามเขาไปสู่ป่าช้า

นายปาปกะจึงเข้าไปถามว่า  "ชายผู้นี้ชื่ออะไร"
หมู่ญาติตอบว่า  "ชายผู้นี้ชื่อว่าชีวกะ"
นายปาปกะถามว่า  "แม้คนชื่อว่าชีวกะ  ก็ตายหรือ"
หมู่ญาติตอบว่า  "จะชื่อชีวกะ (มีชีวิต) ก็ดี  หรือจะชื่ออชีวกะ (ไม่มีชีวิต) ก็ดี  ก็ต้องตายทั้งนั้น  ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน  เจ้านี่เห็นจะโง่กระมัง"
นายปาปกะฟังคำนั้นแล้ว  เริ่มจะมีความรู้สึกเฉยๆในเรื่องชื่อ  เดินทางกลับเข้าเมืองของตน

ในสมัยนั้น  พวกนายทุนกำลังจับนางทาสีผู้หนึ่งซึ่งไม่จ่ายดอกเบี้ย  ให้นั่งที่ซุ้มประตู  เฆี่ยนด้วยเชือก

นายปาปกะเดินเรื่อยไปตามท้องถนน  เห็นนางถูกเฆี่ยน  ก็ถามว่า  "พวกท่านเฆี่ยนนางผู้นี้ทำไม"
พวกนายทุนตอบว่า  "มันไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ย"
นายปาปกะถามว่า  "ก็นางมีชื่ออะไร"
พวกนายทุนตอบว่า  "นางชื่อ  ธนปาลี"
นายปาปกะถามว่า  "นางชื่อ  ธนปาลี  โดยนาม  ก็ยังไม่สามารถจ่ายแม้ดอกเบี้ยหรือ"
พวกนายทุนตอบว่า  "จะชื่อธนปาลี (คนรวย) ก็ดี  หรือจะชื่ออธนปาลี (คนจน) ก็ดี  ก็เป็นคนเข็ญใจได้ทั้งนั้น  ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน  เจ้านี่เห็นจะโง่แน่"
นายปาปกะฟังแล้วยิ่งรู้สึกเฉยๆในเรื่องชื่อยิ่งขึ้น  แล้วเดินออกจากเมืองไป

ในระหว่างทาง  เขาพบชายคนหนึ่งเดินวนไปวนมา  จึงเข้าไปถามว่า  "ท่านทำอะไรอยู่"

ชายคนนั้นตอบว่า  "ข้าพเจ้าหลงทางเสียแล้ว"
นายปาปกะถามว่า  "ท่านชื่ออะไร"
ชายคนนั้นตอบว่า  "ข้าพเจ้าชื่อ  ปันถกะ"
นายปาปกะถามว่า  "ขนาดชื่อปันถกะ  ยังหลงทางอีกหรือ"
ชายคนนั้นตอบว่า  "จะชื่อปันถกะ (ชำนาญทาง)  หรือจะชื่ออปันถกะ (ไม่ชำนาญทาง)  ก็มีโอกาสหลงทางได้เหมือนกัน  ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน  ท่านเองเห็นจะโง่แน่"
นายปาปกะจึงวางเฉยในเรื่องชื่อ  ไปสู่สำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์

ครั้นอาจารย์ถามว่า  "เป็นอย่างไรเล่าพ่อคุณ  ได้ชื่อที่ถูกใจมาแล้วหรือ"

นายปาปกะก็กราบเรียนว่า  "ท่านอาจารย์ขอรับ
ธรรมดา  คนเราถึงจะชื่อชีวกะ  หรือจะชื่ออชีวกะ  ก็ต้องตายเหมือนกัน
ถึงจะชื่อธนปาลี  หรือจะชื่ออธนปาลี  ก็เป็นคนยากไร้ได้เหมือนกัน
ถึงจะชื่อปันถกะ  หรือจะชื่ออปันถกะ  ก็หลงทางได้เหมือนกัน
ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน
ความสำเร็จเพราะชื่อมิได้มีเลย
ความสำเร็จมีได้เพราะการกระทำเท่านั้น
พอกันทีเรื่องชื่อสำหรับกระผม  กระผมขอใช้ชื่อเดิมนั่นแหละต่อไป"

พระโพธิสัตว์ (อาจาย์ทิศาปาโมกข์) จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-

"เพราะเห็นคนชื่อเป็นอยู่  ได้ตายไป
หญิงชื่อมีทรัพย์  กลับตกยาก
และคนชื่อชำนาญทาง  กลับหลงทางในป่า
เจ้าปาปกะจึงกลับมา"

พระบรมศาสดาทรงนำอดีตนิทานนี้มาแสดงแล้ว  ตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุ  มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น  แม้ในปางก่อน  เธอก็มุ่งความสำเร็จเพราะชื่อมาแล้วเหมือนกัน"

แล้วทรงประชุมชาดกว่า
"มาณพผู้มุ่งความสำเร็จเพราะชื่อในครั้งนั้น  ได้มาเป็นภิกษุผู้มุ่งความสำเร็จเพราะชื่อในบัดนี้
บริษัทของอาจารย์ทิศาปาโมกข์  ได้มาเป็นพุทธบริษัท
ส่วนอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในครั้งนั้น  ได้มาเป็นเราตถาคต  ฉะนี้แล"



บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)