สังขธมสูตร (สังยุตตนิกาย > สฬายตนวรรค > คามณิสังยุต)


สังขธมสูตร  (ว่าด้วยคนเป่าสังข์)

สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  ปาวาริกัมพวัน  เขตเมืองนาฬันทา

ครั้งนั้น  ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรผู้เป็นสาวกของนิครนถ์  เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ถวายอภิวาท  แล้วนั่ง  ณ  ที่สมควร

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรดังนี้ว่า
"ผู้ใหญ่บ้าน
นิครนถ์  นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกอย่างไร"

ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตรกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
นิครนถ์  นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกอย่างนี้ว่า
'ผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก
ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก
ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก
ผู้พูดเท็จทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก
กรรมใด ๆ มีอยู่มาก  กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป'
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
นิครนถ์  นาฏบุตรย่อมแสดงธรรมแก่พวกสาวกอย่างนี้"

"ผู้ใหญ่บ้าน
นิครนถ์  นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า  'กรรมใด ๆ มีอยู่มาก  กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป'
เมื่อเป็นเช่นนั้น  ก็จักไม่มีใคร ๆ ไปอบาย  ตกนรก  ตามคำของนิครนถ์  นาฏบุตรเลย
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
บุรุษผู้ฆ่าสัตว์  อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืนหรือกลางวัน
เวลาที่เขาฆ่าสัตว์หรือเวลาที่เขาไม่ฆ่าสัตว์  เวลาไหนจะมากกว่ากัน"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บุรุษผู้ฆ่าสัตว์  อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืนหรือกลางวัน
เวลาที่เขาฆ่าสัตว์น้อยกว่า
ที่แท้  เวลาที่เขาไม่ฆ่าสัตว์มากกว่า"

"ผู้ใหญ่บ้าน
นิครนถ์  นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า  'กรรมใด ๆ มีอยู่มาก  กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป'
เมื่อเป็นเช่นนั้น  ก็จักไม่มีใคร ๆ ไปอบาย  ตกนรก  ตามคำของนิครนถ์  นาฏบุตรเลย
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
บุรุษผู้ลักทรัพย์  อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืนหรือกลางวัน
เวลาที่เขาลักทรัพย์หรือเวลาที่เขาไม่ลักทรัพย์  เวลาไหนจะมากกว่ากัน"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บุรุษผู้ลักทรัพย์  อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืนหรือกลางวัน
เวลาที่เขาลักทรัพย์น้อยกว่า
ที่แท้  เวลาที่เขาไม่ลักทรัพย์มากกว่า"

"ผู้ใหญ่บ้าน
นิครนถ์  นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า  'กรรมใด ๆ มีอยู่มาก  กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป'
เมื่อเป็นเช่นนั้น  ก็จักไม่มีใคร ๆ ไปอบาย  ตกนรก  ตามคำของนิครนถ์  นาฏบุตรเลย
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
บุรุษผู้ประพฤติผิดในกาม  อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืนหรือกลางวัน
เวลาที่เขาประพฤติผิดในกามหรือเวลาที่เขาไม่ประพฤติผิดในกาม  เวลาไหนจะมากกว่ากัน"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บุรุษผู้ประพฤติผิดในกาม  อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืนหรือกลางวัน
เวลาที่เขาประพฤติผิดในกามน้อยกว่า
ที่แท้  เวลาที่เขาไม่ประพฤติผิดในกามมากกว่า"

"ผู้ใหญ่บ้าน
นิครนถ์  นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า  'กรรมใด ๆ มีอยู่มาก  กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป'
เมื่อเป็นเช่นนั้น  ก็จักไม่มีใคร ๆ ไปอบาย  ตกนรก  ตามคำของนิครนถ์  นาฏบุตรเลย
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
บุรุษผู้พูดเท็จ  อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืนหรือกลางวัน
เวลาที่เขาพูดเท็จหรือเวลาที่เขาไม่พูดเท็จ  เวลาไหนจะมากกว่ากัน"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บุรุษผู้พูดเท็จ  อาศัยเวลาและมิใช่เวลาของกลางคืนหรือกลางวัน
เวลาที่เขาพูดเท็จน้อยกว่า
ที่แท้  เวลาที่เขาไม่พูดเท็จมากกว่า"

"ผู้ใหญ่บ้าน
นิครนถ์  นาฏบุตรแสดงธรรมแก่พวกสาวกว่า  'กรรมใด ๆ มีอยู่มาก  กรรมนั้น ๆ ย่อมนำบุคคลไป'
เมื่อเป็นเช่นนั้น  ก็จักไม่มีใคร ๆ  ไปอบาย  ตกนรก  ตามคำของนิครนถ์  นาฏบุตรเลย

ผู้ใหญ่บ้าน
ศาสดาบางคนในโลกนี้มีวาทะอย่างนี้  มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
'ผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก
ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก
ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก
ผู้พูดเท็จทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก

สาวกผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในศาสดาองค์นั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
'ศาสดาของเรามีวาทะอย่างนี้  มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  'ผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก'
สาวกของศาสดานั้นกลับได้ทิฏฐิว่า  'สัตว์ที่ถูกเราฆ่าก็มีอยู่  แม้เราก็ต้องไปอบาย  ตกนรก'
เขายังไม่ละคำพูด  ไม่ละความคิด  ไม่สละทิฏฐินั้น  ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำมาขังไว้ฉะนั้น

สาวกของศาสดานั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
'ศาสดาของเรามีวาทะอย่างนี้  มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  'ผู้ลักทรัพย์ทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก'
สาวกของศาสดานั้นกลับได้ทิฏฐิว่า  'ทรัพย์ที่เราเคยลักก็มีอยู่  แม้เราก็ต้องไปอบาย  ตกนรก'
เขายังไม่ละคำพูด  ไม่ละความคิด  ไม่สละทิฏฐินั้น  ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำมาขังไว้ฉะนั้น

สาวกของศาสดานั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
'ศาสดาของเรามีวาทะอย่างนี้  มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  'ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก'
สาวกของศาสดานั้นกลับได้ทิฏฐิว่า  'การที่เราประพฤติผิดในกามก็มีอยู่  แม้เราก็ต้องไปอบาย  ตกนรก'
เขายังไม่ละคำพูด  ไม่ละความคิด  ไม่สละทิฏฐินั้น  ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำมาขังไว้ฉะนั้น

สาวกของศาสดานั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
'ศาสดาของเรามีวาทะอย่างนี้  มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  'ผู้พูดเท็จทั้งหมดต้องไปอบาย  ตกนรก'
สาวกของศาสดานั้นกลับได้ทิฏฐิว่า  'คำเท็จที่เราพูดแล้วก็มีอยู่  แม้เราก็ต้องไปอบาย  ตกนรก'
เขายังไม่ละคำพูด  ไม่ละความคิด  ไม่สละทิฏฐินั้น  ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำมาขังไว้ฉะนั้น

ผู้ใหญ่บ้าน
ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ  เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  ไปดี  รู้แจ้งโลก  เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม  เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เป็นพระพุทธเจ้า  เป็นพระผู้มีพระภาค

ตถาคตนั้นตำหนิติเตียนการฆ่าสัตว์โดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก
และกล่าวว่า  'ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์'
ตำหนิติเตียนการลักทรัพย์โดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก
และกล่าวว่า  'ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการลักทรัพย์'
ตำหนิติเตียนการประพฤติผิดในกามโดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก
และกล่าวว่า  'ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม'
ตำหนิติเตียนการพูดเท็จโดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก
และกล่าวว่า  'ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการพูดเท็จ'

สาวกผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในศาสดานั้นพิจารณาเห็นว่า
'พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนการฆ่าสัตว์โดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก
และตรัสว่า  'ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์'
อนึ่ง  สัตว์ที่ถูกเราฆ่าก็มีอยู่มากมาย
การที่เราฆ่าสัตว์มากมายนั้นไม่เป็นการดีงามเลย
เราเท่านั้นพึงเป็นผู้เดือดร้อนเพราะการฆ่าสัตว์นั้นเป็นปัจจัย
เราไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นก็หามิได้'
เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว  ย่อมละการฆ่าสัตว์นั้นและเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ต่อไป
เธอละบาปกรรม  ก้าวล่วงบาปกรรมนั้นได้ด้วยประการฉะนี้

สาวกนั้นพิจารณาเห็นว่า
'พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนการลักทรัพย์โดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก
และตรัสว่า  'ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการลักทรัพย์'
อนึ่ง  ทรัพย์ที่เราลักก็มีอยู่มากมาย
การที่เราลักทรัพย์มากมายนั้นไม่เป็นการดีงามเลย
เราเท่านั้นพึงเป็นผู้เดือดร้อนเพราะการลักทรัพย์นั้นเป็นปัจจัย
เราไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นก็หามิได้'
เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว  ย่อมละการลักทรัพย์นั้นและเว้นขาดจากการลักทรัพย์ต่อไป
เธอละบาปกรรม  ก้าวล่วงบาปกรรมนั้นได้ด้วยประการฉะนี้

สาวกนั้นพิจารณาเห็นว่า
'พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนการประพฤติผิดในกามโดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก
และตรัสว่า  'ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม'
อนึ่ง  การที่เราประพฤติผิดในกามก็มีอยู่มากมาย
การที่เราประพฤติผิดในกามมากมายนั้นไม่เป็นการดีงามเลย
เราเท่านั้นพึงเป็นผู้เดือดร้อนเพราะการประพฤติผิดในกามนั้นเป็นปัจจัย
เราไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นก็หามิได้'
เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว  ย่อมละการประพฤติผิดในกามนั้นและเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามต่อไป
เขาละบาปกรรม  ก้าวล่วงบาปกรรมนั้นได้ด้วยประการฉะนี้

สาวกนั้นพิจารณาเห็นว่า
'พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนการพูดเท็จโดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก
และตรัสว่า  'ท่านทั้งหลายจงเว้นขาดจากการพูดเท็จ'
อนึ่ง  การที่เราพูดเท็จก็มีอยู่มากมาย
การที่เราพูดเท็จมากมายนั้นไม่เป็นการดีงามเลย
เราเท่านั้นพึงเป็นผู้เดือดร้อนเพราะการพูดเท็จนั้นเป็นปัจจัย
เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นก็หามิได้'
เธอพิจารณาอย่างนี้แล้ว  ย่อมละการพูดเท็จนั้นและเว้นขาดจากการพูดเท็จต่อไป
เขาละบาปกรรม  ก้าวล่วงบาปกรรมนั้นได้ด้วยประการฉะนี้

สาวกนั้นละการฆ่าสัตว์  เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
ละการลักทรัพย์  เว้นขาดจากการลักทรัพย์
ละการประพฤติผิดในกาม  เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
ละการพูดเท็จ  เว้นขาดจากการพูดเท็จ
ละการพูดคำส่อเสียด  เว้นขาดจากการพูดคำส่อเสียด
ละการพูดคำหยาบ  เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
ละการพูดเพ้อเจ้อ  เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
ละความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา  ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
ละความประทุษร้ายที่เกิดจากพยาบาท  มีจิตไม่พยาบาท
ละมิจฉาทิฏฐิ  เป็นสัมมาทิฏฐิ

อริยสาวกนั้นปราศจากความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา  ปราศจากพยาบาทอย่างนี้  ไม่หลง  มีสัมปชัญญะ  มีสติ
มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ...  ทิศที่ ๒ ...  ทิศที่ ๓ ...  ทิศที่ ๔ ...  ทิศเบื้องบน (เทวโลก)  ทิศเบื้องล่าง (นรกและนาค)  ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า  ในที่ทุกสถาน
ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์  เป็นมหัคคตะ  ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

ผู้ใหญ่บ้าน
กรรมที่ทำพอประมาณในเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้ว  ทำให้มากแล้วอย่างนี้  จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจรเลย
เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึงให้ได้ยินตลอดทิศทั้ง ๔ ได้โดยไม่ยาก

ผู้ใหญ่บ้าน
อริยสาวกนั้นปราศจากความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา  ปราศจากพยาบาทอย่างนี้  ไม่หลง  มีสัมปชัญญะ  มีสติ
มีกรุณาจิต  ฯลฯ

มีมุทิตาจิต  ฯลฯ

มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ...  ทิศที่ ๒ ...  ทิศที่ ๓ ...  ทิศที่ ๔ ...  ทิศเบื้องบน  ทิศเบื้องล่าง  ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า  ในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์  เป็นมหัคคตะ  ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

ผู้ใหญ่บ้าน
กรรมที่ทำพอประมาณในอุเบกขาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้ว  ทำให้มากแล้วอย่างนี้  จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจรเลย
เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึงให้ได้ยินตลอดทิศทั้ง ๔ ได้โดยไม่ยาก"

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตร  สาวกของนิครนถ์  ได้กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด  บอกทางแก่ผู้หลงทาง  หรือตามประทีปในที่มืด  โดยตั้งใจว่าคนมีตาดีจักเห็นรูปได้
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค  พร้อมทั้งพระธรรม  และพระสงฆ์  เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต"


สังขธมสูตร  จบ


บทความที่เกี่ยวข้อง
๑. คนทำบาปทั้งหมดต้องตกนรกจริงหรือ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)