ทีฆาวุวัตถุ (มหาวรรค > โกสัมพิกขันธกะ)


ทีฆาวุวัตถุ  (ว่าด้วยทีฆาวุกุมาร)

ครั้งนั้น  พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย  เรื่องเคยมีมาแล้ว

ในกรุงพาราณสี  ได้มีพระเจ้ากาสีพระนามว่าพรหมทัต  ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคสมบัติมาก  มีกำลังพลมาก  มีพาหนะมาก  มีอาณาจักรกว้างใหญ่  มีภัณฑาคารห้องเก็บของมีค่าและคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

พระเจ้าโกศลทรงพระนามว่าทีฆีติ  ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ขัดสน  มีทรัพย์น้อย  มีโภคสมบัติน้อย  มีกำลังพลน้อย  มีพาหนะน้อย  มีอาณาจักรไม่กว้างใหญ่  มีภัณฑาคารห้องเก็บของมีค่าและคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่อุดมสมบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย  ครั้งนั้น  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชเสด็จคุมกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔  ไปโจมตีพระเจ้าทีฆีติโกศลราช

พระเจ้าทีฆีติโกศลราชทรงสดับว่า  'พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชเสด็จคุมกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔  มาโจมตีเรา'
จึงทรงดำริดังนี้ว่า  "พระเจ้าพรหมทัตกาสีราช  ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคสมบัติมาก  มีกำลังพลมาก  มีพาหนะมาก  มีอาณาจักรกว้างใหญ่  มีภัณฑาคารห้องเก็บของมีค่าและคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
ส่วนเราเอง  เป็นกษัตริย์ผู้ขัดสน  มีทรัพย์น้อย  มีโภคสมบัติน้อย  มีกำลังพลน้อย  มีพาหนะน้อย  มีอาณาจักรไม่กว้างใหญ่  มีภัณฑาคารห้องเก็บของมีค่าและคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่อุดมสมบูรณ์
เราไม่สามารถจะทำสงครามแม้เพียงครั้งเดียวกับพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้เลย
อย่ากระนั้นเลย  เราควรรีบหนีไปจากเมืองเสียก่อน"

ลำดับนั้น  พระเจ้าทีฆีติโกศลราชจึงทรงพาพระมเหสีเสด็จหนีไปจากเมืองเสียก่อน

ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชทรงยึดกำลังพล  พาหนะ  ชนบท  คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชไว้ได้แล้ว  เสด็จเข้าครอบครองแทน

ครั้งนั้น  พระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมด้วยพระมเหสีได้เสด็จหนีไปทางกรุงพาราณสี  เสด็จจาริกไปตามลำดับ  ลุถึงกรุงพาราณสีแล้ว
ทราบว่า  ท้าวเธอพร้อมกับพระมเหสีทรงปลอมแปลงพระองค์มิให้คนรู้จัก  ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก  ประทับอยู่ในบ้านช่างหม้อซึ่งตั้งอยู่ชายแดนแห่งหนึ่งในกรุงพาราณสี

ต่อมาไม่นานนัก  พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชทรงมีพระครรภ์
พระนางเกิดอาการแพ้ท้องเช่นนี้  คือ  ในยามรุ่งอรุณ  พระนางปรารถนาจะทอดพระเนตรกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔  ผู้สวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิ  และจะทรงเสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์

ครั้งนั้น  พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชจึงได้กราบทูลดังนี้ว่า  "ขอเดชะ  หม่อมฉันมีครรภ์
หม่อมฉันนั้นเกิดอาการแพ้ท้องเช่นนี้  คือ  ยามรุ่งอรุณ  ปรารถนาจะทอดพระเนตรกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔  ผู้สวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิ  และจะทรงเสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์"

พระเจ้าทีฆีติตรัสว่า  "แม่เทวี  เรากำลังตกยาก  จะได้กองทหารประกอบด้วยองค์ ๔  ผู้สวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิ  และน้ำล้างพระแสงขรรค์จากที่ไหนเล่า"

พระราชเทวีกราบทูลว่า  "ขอเดชะ  ถ้าหม่อมฉันไม่ได้คงตายแน่"

ก็สมัยนั้น  พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชเป็นพระสหายของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช

ลำดับนั้น  พระเจ้าทีฆีติโกศลราชเสด็จเข้าไปหาพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราช  ณ  ที่พัก  แล้วตรัสกับพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชดังนี้ว่า
"เพื่อนเอ๋ย  สหายหญิงของท่านมีครรภ์
นางเกิดอาการแพ้ท้องเช่นนี้  คือ  เมื่อยามรุ่งอรุณ  เธอปรารถนาจะชมกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔  ผู้สวมเกราะยืนในสมรภูมิ  และจะดื่มน้ำล้างพระแสงขรรค์"

ปุโรหิตกราบทูลว่า  "ขอเดชะ  ถ้าอย่างนั้น  หม่อมฉันขอเฝ้าพระเทวีก่อน"

ลำดับนั้น  พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้เสด็จไปหาพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราช  ณ  ที่พัก

พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้แลเห็นพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลกำลังเสด็จมาแต่ไกล  จึงลุกจากอาสนะห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง  ประนมมือไปทางพระมเหสีแล้วอุทานขึ้น ๓ ครั้งว่า
"ท่านผู้เจริญ  พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว
ท่านผู้เจริญ  พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว
พระเทวีอย่าได้ท้อพระทัยเลย
เมื่อยามรุ่งอรุณ  จะได้ทอดพระเนตรกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔  ผู้สวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิ  และจะได้เสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์"

ครั้งนั้น  พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตกาสีราช  ณ  ที่ประทับ  แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า
"ขอเดชะ  นิมิตทั้งหลายปรากฏอย่างนั้น  คือ
พรุ่งนี้ยามรุ่งอรุณ  กองทหารประกอบด้วยองค์ ๔  จะสวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิ  และเจ้าพนักงานจะเอาน้ำล้างพระแสงขรรค์"

ลำดับนั้น  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชจึงรับสั่งกับเจ้าพนักงานว่า
"พนาย  พวกเจ้าจงทำตามที่พราหมณ์ปุโรหิตสั่งการเถิด"

พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชจึงได้ทอดพระเนตรกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔  ผู้สวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิ  และได้เสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์ในเวลารุ่งอรุณสมความปรารถนา

ต่อมาเมื่อพระครรภ์แก่ครบกำหนด  จึงประสูติพระโอรส
พระประยูรญาติได้ขนานพระนามให้ว่า  ทีฆาวุ

ต่อมาไม่นานนัก  พระกุมารได้ทรงเจริญวัยรู้เดียงสา
ครั้งนั้น  พระเจ้าทีฆีติโกศลราชทรงมีดำริดังนี้ว่า
"พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชนี้ได้ก่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ให้แก่เรามากมาย
ได้ช่วงชิงเอากองทหาร  พาหนะ  ชนบท  คลังอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดถึงคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพวกเราไป
ถ้าท้าวเธอจะทรงสืบทราบถึงพวกเรา  จะรับสั่งให้ประหารชีวิตหมดทั้ง ๓ คนแน่
อย่ากระนั้นเลย  เราควรให้พ่อทีฆาวุกุมารหลบอยู่นอกเมือง"
แล้วได้ให้ทีฆาวุกุมารหลบอยู่นอกเมือง

ทีฆาวุกุมารอาศัยอยู่นอกเมืองไม่นาน  ก็ได้ศึกษาศิลปวิทยาจบทุกสาขา

สมัยนั้น  ช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้สวามิภักดิ์อยู่ในสำนักของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราช
เขาได้เห็นพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสีทรงปลอมแปลงพระองค์มิให้ใครรู้จัก  ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก  ประทับอยู่ในบ้านช่างหม้อซึ่งตั้งอยู่ชายแดนแห่งหนึ่งในกรุงพาราณสี  จึงได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชแล้วกราบทูลว่า
"ขอเดชะ  พระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมด้วยพระมเหสีทรงปลอมแปลงพระองค์มิให้ใครรู้จัก  ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก  ประทับอยู่ในบ้านช่างหม้อซึ่งตั้งอยู่ชายแดนแห่งหนึ่งในกรุงพาราณสี"

ลำดับนั้น  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชจึงรับสั่งเจ้าพนักงานว่า
"พนาย  ถ้าอย่างนั้น  พวกเจ้าจงไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมด้วยพระมเหสีมา"

พวกเจ้าพนักงานกราบทูลรับสนองพระดำรัสแล้วไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมพระมเหสีมาถวาย

พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชรับสั่งเจ้าพนักงานว่า
"พวกเจ้าจงเอาเชือกที่เหนียวแน่นมัดพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสี  มัดพระพาหาไพล่หลังให้แน่น  กล้อนพระเกศา  แล้วพาตระเวนไปตามถนน  ตามตรอกทุกแห่ง  พร้อมกับตีกลองให้ดังสนั่น  พาออกไปทางประตูด้านทิศทักษิณ  แล้วบั่นร่างออกเป็น ๔ ท่อน  วางเรียงไว้ในหลุมทั้ง ๔ ทิศทางด้านทิศทักษิณแห่งเมือง"

พวกเจ้าพนักงานทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วได้เอาเชือกที่เหนียวแน่นมัดพระเจ้าทีฆีติพร้อมกับพระมเหสี  มัดพระพาหาไพล่หลังให้แน่น  กล้อนพระเกศา  แล้วพาตระเวนไปตามถนน  ตามตรอกทุกแห่งพร้อมกับตีกลองให้ดังสนั่น

เวลานั้น  ทีฆาวุราชกุมารทรงดำริดังนี้ว่า
"นานแล้วที่เราได้เยี่ยมพระชนกชนนี
อย่ากระนั้นเลย  เราควรไปเยี่ยมท่านทั้งสอง"
จึงเดินทางเข้ากรุงพาราณสี  ได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าพนักงานเอาเชือกอย่างเหนียวมัดพระชนกชนนี  มัดพระพาหาไพล่หลังให้แน่น  กล้อนพระเกศา  แล้วพาตระเวนไปตามถนน  ตามตรอกทุกแห่ง  พร้อมกับตีกลองให้ดังสนั่น  จึงเสด็จเข้าไปใกล้พระชนกชนนี

พระเจ้าทีฆีติโกศลราชทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารดำเนินมาแต่ไกล  จึงได้ตรัสดังนี้ว่า
"พ่อทีฆาวุ  เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว  อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร"

เมื่อพระเจ้าทีฆีติโกศลราชตรัสอย่างนี้  พวกเจ้าพนักงานได้กราบทูลดังนี้ว่า
"พระเจ้าทีฆีติโกศลราชพระองค์นี้ทรงวิกลจริตจึงบ่นเพ้อ
ใครคือทีฆาวุของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชนี้
พระองค์ตรัสกับใครอย่างนี้ว่า  'พ่อทีฆาวุ  เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว  อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร"

พระเจ้าทีฆีติโกศลราชจึงตรัสตอบว่า
"เราไม่ได้วิกลจริตบ่นเพ้อ  ผู้ใดรู้แจ้ง  ผู้นั้นจะเข้าใจ"

แม้ครั้งที่ ๒  ฯลฯ

แม้ครั้งที่ ๓  พระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ตรัสกะทีฆาวุกุมารดังนี้ว่า
"พ่อทีฆาวุ  เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว  อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร"

แม้ครั้งที่ ๓  พวกเจ้าพนักงานก็ได้กราบทูลดังนี้ว่า
"พระเจ้าทีฆีติโกศลราชพระองค์นี้ทรงวิกลจริตจึงบ่นเพ้อ
ใครคือทีฆาวุของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชนี้
พระองค์ตรัสกับใครอย่างนี้ว่า  'พ่อทีฆาวุ  เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว  อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร"

พระเจ้าทีฆีติโกศลราชก็ยังคงตรัสว่า
"เราไม่ได้วิกลจริตบ่นเพ้อ  ผู้ใดรู้แจ้ง  ผู้นั้นจะเข้าใจ"

ลำดับนั้น  พวกเจ้าพนักงานได้นำพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสีตระเวนไปตามถนน  ตามตรอกทุกแห่ง  แล้วให้ออกไปทางประตูด้านทิศทักษิณ  แล้วบั่นพระกายเป็น ๔ ท่อน  แล้ววางเรียงไว้ในหลุมทั้ง ๔ ทิศทางด้านทิศทักษิณแห่งเมือง  วางยามคอยระวังเหตุการณ์ไว้  แล้วพากันกลับ

ต่อมา  ทีฆาวุกุมารลอบเสด็จเข้าไปยังกรุงพาราณสี  นำสุรามาเลี้ยงพวกอยู่ยาม
เมื่อพวกยามเมาฟุบลง  จึงจัดหาฟืนมาวางเรียงกันแล้วหาไม้มาสร้างจิตกาธาน  ยกพระบรมศพของพระชนกชนนีขึ้นสู่จิตกาธาน  ถวายพระเพลิงแล้วประนมพระหัตถ์  ทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ

สมัยนั้น  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชประทับอยู่ชั้นบนปราสาท  ทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารกำลังประนมพระหัตถ์ทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ  จึงทรงดำริดังนี้ว่า
"พนักงานผู้นั้นคงเป็นญาติหรือคนร่วมสายโลหิตของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชแน่
น่ากลัวจะก่อความพินาศแก่เรา  ช่างไม่มีใครบอกเราเลย"

ครั้งนั้น  ทีฆาวุกุมารเสด็จหลบเข้าป่า  ทรงกันแสงด้วยความโศกเศร้าพระทัย  ทรงซับน้ำพระเนตร  แล้วเสด็จเข้ากรุงพาราณสี  ถึงโรงช้างใกล้พระบรมมหาราชวัง  ตรัสแก่นายหัตถาจารย์ดังนี้ว่า
"ท่านอาจารย์  ผมอยากเรียนศิลปวิทยา"

นายหัตถาจารย์ตอบว่า  "ถ้าอย่างนั้น  เชิญพ่อหนุ่มมาเรียนเถิด"

เช้ามืดวันหนึ่ง  ทีฆาวุกุมารทรงตื่นบรรทม  ทรงขับร้องดีดพิณคลอเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ที่โรงช้าง

พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชทรงตื่นบรรทมเวลานั้นพอดี  ได้ทรงสดับเสียงเพลงและเสียงพิณที่ดังแว่วมาทางโรงช้าง  จึงตรัสถามพวกเจ้าพนักงานว่า  "ใครกันตื่นแต่เช้าขับร้องดีดพิณแว่วมาทางโรงช้าง"

พวกเจ้าพนักงานกราบทูลว่า  "ขอเดชะ  ชายหนุ่มศิษย์ของนายหัตถาจารย์คนโน้นตื่นแต่เช้า  ขับร้องดีดพิณคลอเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ที่โรงช้าง"

พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสว่า  "ถ้ากระนั้น  พวกเจ้าจงพาชายหนุ่มมาเฝ้า"
พวกเจ้าพนักงานทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว  พาทีฆาวุกุมารมาเฝ้า

พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสถามทีฆาวุกุมารดังนี้ว่า
"พ่อหนุ่ม  เธอตื่นแต่เช้า  ขับร้องดีดพิณคลอเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ที่โรงช้างหรือ"

ทีฆาวุกุมารกราบทูลว่า  "เป็นอย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

ท้าวเธอตรัสว่า  "ถ้าเช่นนั้น  เธอจงขับร้องดีดพิณไปเถิด"

ทีฆาวุกุมารกราบทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว  ปรารถนาจะให้ทรงโปรดจึงขับร้องและดีดพิณด้วยเสียงอันไพเราะ

ครั้งนั้น  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้ตรัสกับทีฆาวุกุมารดังนี้ว่า
"พ่อหนุ่ม  เธอจงอยู่รับใช้เราเถิด"

ทีฆาวุกุมารทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว  จึงได้ประพฤติทำนองตื่นก่อนนอนทีหลัง  คอยเฝ้าปรนนิบัติ  ทำให้ถูกพระอัธยาศัย  พูดไพเราะ
ไม่นานนัก  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชทรงแต่งตั้งทีฆาวุกุมารไว้ในตำแหน่งมหาดเล็กคนสนิทภายใน

ต่อมา  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสกับทีฆาวุกุมารดังนี้ว่า
"พ่อหนุ่ม  เธอจงเทียมรถ  พวกเราจะไปล่าเนื้อ"

ทีฆาวุกุมารทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วจัดเทียมรถไว้ได้กราบทูลว่า
"ขอเดชะ  รถพระที่นั่งเทียมเสร็จแล้ว  เวลานี้ขอได้ทรงโปรดทราบเวลาอันควรเถิด"

ลำดับนั้น  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชเสด็จขึ้นราชรถ
ทีฆาวุกุมารขับราชรถแยกไปทางหนึ่งจากกองทหาร
เมื่อท้าวเธอเสด็จไปไกลจึงตรัสกับทีฆาวุกุมารว่า
"พ่อหนุ่ม  เธอจงจอดรถ  เราเหน็ดเหนื่อยจะนอนพัก"

ทีฆาวุกุมารทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว  จอดราชรถ  นั่งขัดสมาธิที่พื้นดิน

ครั้งนั้นแล  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชทรงพาดพระเศียรบรรทมอยู่บนตักของทีฆาวุกุมารเพราะทรงเหน็ดเหนื่อยมา  เพียงครู่เดียวก็บรรทมหลับสนิท

ขณะนั้น  ทีฆาวุกุมารได้ทรงดำริดังนี้ว่า
"พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชนี้แลทรงก่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่พวกเรามากมาย
ทรงช่วงชิงกองทหาร  พาหนะ  ชนบท  คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพวกเราไป
ได้ปลงพระชนม์ชีพของพระชนกชนนีของเราอีก
บัดนี้  เป็นเวลาที่เราพบคู่เวร"
จึงชักพระแสงขรรค์ออกจากฝัก

ครั้งนั้น  ทีฆาวุกุมารได้ทรงดำริดังนี้ว่า
"พระชนกได้ตรัสสั่งเราไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า
'พ่อทีฆาวุ  เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว  อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร'
การที่เราจะละเมิดพระดำรัสสั่งของพระชนกนั้นไม่ควรเลย"
จึงสอดพระแสงขรรค์กลับเข้าฝักตามเดิม

แม้ครั้งที่ ๒  ฯลฯ

แม้ครั้งที่ ๓  ทีฆาวุกุมารก็ทรงดำริดังนี้ว่า
"พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชนี้แลทรงก่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่พวกเรามากมาย
ทรงช่วงชิงกองทหาร  พาหนะ  ชนบท  คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพวกเราไป
ได้ปลงพระชนม์ชีพของพระชนกชนนีของเราอีก
บัดนี้  เป็นเวลาที่เราพบคู่เวร"
จึงชักพระแสงขรรค์ออกจากฝัก

แม้ครั้งที่ ๓  ทีฆาวุกุมารได้ทรงดำริดังนี้ว่า
"พระชนกได้ตรัสสั่งเราไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า
'พ่อทีฆาวุ  เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว  อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร'
การที่เราจะละเมิดพระดำรัสสั่งของพระชนกนั้นไม่ควรเลย"
จึงสอดพระแสงขรรค์กลับเข้าฝักตามเดิม

พอดีกับที่พระเจ้าพรหมทัตทรงสะดุ้งพระทัย  หวาดหวั่น  รีบเสด็จลุกขึ้น

ลำดับนั้น  ทีฆาวุกุมารทูลถามพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชดังนี้ว่า
"ขอเดชะ  เพราะอะไรพระองค์จึงทรงสะดุ้งพระทัย  หวาดหวั่น  รีบเสด็จลุกขึ้น"

ท้าวเธอตรัสตอบว่า  "พ่อหนุ่ม
ฉันฝันว่าทีฆาวุกุมาร  โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชฟันฉันด้วยพระแสงขรรค์  ณ  ที่นี้
ดังนั้น  ฉันจึงตกใจสะดุ้ง  หวาดหวั่น  รีบลุกขึ้น”

ทีนั้น  ทีฆาวุกุมารจับพระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชด้วยพระหัตถ์ซ้าย  ชักพระแสงขรรค์ด้วยพระหัตถ์ขวา  แล้วกล่าวขู่ว่า
"ขอเดชะ  ข้าพระพุทธเจ้านี่แหละคือทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชคนนั้น
พระองค์ทรงก่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่พวกข้าพระองค์มากมาย
ทรงช่วงชิงกองทหาร  พาหนะ  ชนบท  คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพวกข้าพระองค์ไป
มิหนำซ้ำ  ยังปลงพระชนม์ชีพพระชนกชนนีของข้าพระองค์อีก
เวลานี้เป็นเวลาที่ข้าพระองค์ได้เจอคู่เวร"

พระเจ้าพรหมทัตได้ซบพระเศียรลงแทบบาทของทีฆาวุกุมาร  ตรัสอ้อนวอนว่า
"พ่อทีฆาวุ  พ่อจงให้ชีวิตแก่ฉันเถิด
พ่อทีฆาวุ  พ่อจงให้ชีวิตแก่ฉันเถิด"

ทีฆาวุกุมารกราบทูลว่า
"ข้าพระองค์ไม่อาจจะถวายชีวิตแด่สมมติเทพได้
องค์สมมติเทพต่างหากควรพระราชทานชีวิตแก่ข้าพระองค์"

ท้าวเธอตรัสว่า  "พ่อทีฆาวุ  ถ้าอย่างนั้น  เธอจงให้ชีวิตฉัน  และฉันก็ให้ชีวิตแก่เธอ"

ดังนั้น  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชและทีฆาวุกุมารจึงต่างได้ให้ชีวิตแก่กันและกัน  จับพระหัตถ์กันและได้สาบานเพื่อจะไม่ทำร้ายกันและกัน

ครั้งนั้นแล  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้ตรัสกับทีฆาวุกุมารดังนี้ว่า
"พ่อทีฆาวุ  ถ้าอย่างนั้นเธอจงเทียมรถกลับกันเถอะ"

ทีฆาวุกุมารทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วเทียมรถได้กราบทูลว่า

"ขอเดชะ  รถพระที่นั่งเทียมเสร็จแล้ว  บัดนี้พระองค์โปรดทรงทราบเวลาอันควรเถิด"

ท้าวเธอเสด็จขึ้นราชรถแล้ว  ทีฆาวุกุมารขับราชรถไปไม่นานก็มาพบกองทหาร
เมื่อเสด็จเข้ากรุงพาราณสีแล้ว  รับสั่งให้เรียกประชุมอมาตย์ราชบริษัทแล้วตรัสถามว่า
"ถ้าพวกท่านพบทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช  จะทำอะไรแก่เขา"

อำมาตย์บางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า
"ขอเดชะ  พวกข้าพระองค์จะตัดมือ
ขอเดชะ  พวกข้าพระองค์จะตัดเท้า
ขอเดชะ  พวกข้าพระองค์จะตัดทั้งมือและเท้า
ขอเดชะ  พวกข้าพระองค์จะตัดหู
ขอเดชะ  พวกข้าพระองค์จะตัดจมูก
ขอเดชะ  พวกข้าพระองค์จะตัดทั้งหูและจมูก
ขอเดชะ  พวกข้าพระองค์จะตัดศีรษะ"

พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสว่า
"นาย  ชายหนุ่มผู้นี้แล  คือทีฆาวุกุมาร  โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชคนนั้น
ใครจะทำร้ายชายหนุ่มคนนี้ไม่ได้
เขาให้ชีวิตแก่เรา  และเราก็ได้ให้ชีวิตแก่เขา"

ครั้งนั้น  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้ตรัสกับทีฆาวุกุมารดังนี้ว่า
"พ่อทีฆาวุ  คำสั่งที่พระชนกของเธอได้ตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า
'พ่อทีฆาวุ  เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว  อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร'
พระชนกของเธอตรัสไว้หมายความว่าอย่างไร"

ทีฆาวุกุมารกราบทูลว่า  "ขอเดชะ
คำสั่งที่พระชนกของข้าพระองค์ตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า  'เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว'
นี้หมายความว่า  'อย่าได้จองเวรให้ยืดเยื้อ'
ดังนั้น  พระชนกของข้าพระองค์จึงตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า  'เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว'

คำสั่งที่พระชนกของข้าพระองค์ตรัสไว้อีกว่า  'เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น'
นี้หมายความว่า  'เจ้าอย่าแตกร้าวจากมิตรเร็วนัก'
ดังนั้น  พระชนกของข้าพระองค์จึงตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า  'เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น'

คำสั่งที่พระชนกของข้าพระองค์ตรัสไว้อีกว่า  'เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร'
นี้หมายความว่า  'พระชนกชนนีของข้าพระองค์ถูกพระองค์ปลงพระชนม์ชีพแล้ว
ถ้าข้าพระองค์ปลงพระชนม์ชีพของพระองค์บ้าง
คนที่มุ่งประโยชน์แก่พระองค์ก็จะพึงฆ่าข้าพระองค์
คนที่มุ่งประโยชน์แก่ข้าพระองค์ก็จะพึงฆ่าคนพวกนั้นอีก
เมื่อเป็นเช่นนี้  เวรนั้นไม่พึงระงับด้วยการจองเวร
แต่มาบัดนี้  พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตแก่ข้าพระองค์
และข้าพระองค์ก็ได้ทูลถวายพระชนมชีพแก่พระองค์
จึงเป็นอันว่าเวรนั้นระงับแล้วด้วยการไม่จองเวร
ดังนั้น  พระชนกของข้าพระองค์จึงตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า  'เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร"

ลำดับนั้น  พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสว่า
"น่าอัศจรรย์จริงท่านผู้เจริญทั้งหลาย  เป็นเรื่องที่ไม่เคยมี  ท่านผู้เจริญทั้งหลาย  ทีฆาวุกุมารผู้นี้เฉลียวฉลาด  จึงเข้าใจความหมายแห่งคำพูดที่พระชนกตรัสไว้โดยย่อได้โดยพิสดาร"
แล้วได้โปรดพระราชทานคืนกองทหาร  พาหนะ  ชนบท  คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารอันเป็นพระราชสมบัติของพระชนก  และได้พระราชทานพระราชธิดาให้อภิเษกสมรสด้วย

ภิกษุทั้งหลาย
ขันติและโสรัจจะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระราชาเหล่านั้น  ผู้ทรงอาญา  ทรงถือศัสตราวุธ
การที่พวกเธอบวชในธรรมวินัยอันเรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้  จะพึงมีความอดทนและความสงบเสงี่ยมนั้น  ก็จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้แน่"

แม้ครั้งที่ ๓  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า
"อย่าเลย  ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธออย่าบาดหมาง  อย่าทะเลาะ  อย่าขัดแย้ง  อย่าวิวาทกันเลย"

ภิกษุอธรรมวาทีรูปนั้นก็ยังกราบทูลอีกเป็นครั้งที่ ๓ ว่า
"ขอพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นธรรมสามีทรงโปรดรอไปก่อน
ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อยประกอบตามสุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด
พวกข้าพระพุทธเจ้าจะปรากฏเพราะความบาดหมาง  เพราะความทะเลาะ  เพราะความขัดแย้ง  เพราะการวิวาทนั้นเอง  พระพุทธเจ้าข้า"

ครั้งนั้นแล  พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า
"พวกโมฆบุรุษเหล่านี้ดื้อรั้นนัก  จะทำให้สามัคคีกันไม่ใช่ง่าย"
แล้วทรงลุกจากอาสนะแล้วเสด็จจากไป

ทีฆาวุวัตถุ  จบ


บทความที่เกี่ยวข้อง
๑. คาถาเลิกจองเวร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)