มตกภัตตชาดก (ขุททกนิกาย > ชาดก > เอกกนิบาต > สีลวรรค)


มตกภัตตชาดก  (ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย)

รุกขเทวดาโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่มหาชนว่า
       "ถ้าเหล่าสัตว์พึงรู้อย่างนี้ว่า
การเกิดและสมภพนี้เป็นทุกข์
สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์
เพราะผู้ฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก"

มตกภัตตชาดก  จบ

อรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่  ณ  พระเชตวันมหาวิหาร  ทรงปรารภมตกภัต  จึงได้ตรัสเรื่องนี้

ในกาลนั้น
มนุษย์ทั้งหลายฆ่าแพะเป็นต้นเป็นอันมากให้มตกภัตอุทิศญาติทั้งหลายที่ตายไปแล้ว

ภิกษุทั้งหลายเห็นมนุษย์เหล่านั้นกระทำอย่างนั้น  จึงทูลถามพระศาสดาว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บัดนี้  มนุษย์ทั้งหลายทำสัตว์มีชีวิตเป็นอันมากให้ถึงความสิ้นชีวิต
แล้วให้ทานชื่อว่ามตกภัต
ความเจริญในการให้มตกภัตนี้มีอยู่หรือ  พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
ชื่อว่าความเจริญอะไร ๆ ในปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) แม้ที่เขากระทำด้วยคิดว่า  'พวกเราจักให้ทานมตกภัต'  ดังนี้  ย่อมไม่มี

แม้ในกาลก่อน  เทวดาผู้เป็นบัณฑิตได้นั่งในอากาศ
แสดงธรรมกล่าวโทษในการทำปาณาติบาตนี้  ให้ชนชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นละกรรมนั้น

แต่บัดนี้  กรรมนั้นกลับปรากฏขึ้นอีก
เพราะสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้อยู่ในสังเขปแห่งภพ"

แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า  ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล
เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี
มีพราหมณ์ผู้อาจารย์ทิศาปาโมกข์ซึ่งสำเร็จไตรเพทคนหนึ่ง  คิดว่าจักให้มตกภัต
จึงให้จับแพะมาตัวหนึ่ง
แล้วกล่าวกับอันเตวาสิก (ลูกศิษย์) ทั้งหลายว่า
"พ่อทั้งหลาย  พวกท่านจงนำแพะตัวนี้ไปยังแม่น้ำ  ให้อาบน้ำ  แล้วเอามาลัยสวมคอ  เจิมประดับประดา  แล้วนำมา"

อันเตวาสิกทั้งหลายรับคำแล้ว
พาแพะนั้นไปยังแม่น้ำ  ให้อาบน้ำ  ประดับมาลัยแล้ว  พักไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ

แพะนั้นเห็นกรรมเก่าของตน  เกิดความโสมนัสว่า
"เราจะได้พ้นจากทุกข์ในวันนี้แล้ว"
จึงหัวเราะลั่น

แล้วคิดต่อไปว่า
"พราหมณ์นี้กำลังจะฆ่าเรา  เขาจะได้ความทุกข์ที่เราได้แล้ว"
เกิดความกรุณาพราหมณ์  จึงร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง

มาณพทั้งหลายเห็นเหตุนั้น  จึงถามแพะว่า
"แพะเอ๋ย  ท่านหัวเราะและร้องไห้เสียงดังลั่น
เพราะเหตุไรหนอ  ท่านจึงหัวเราะ
และเพราะเหตุไร  ท่านจึงร้องไห้"

แพะกล่าวว่า
"ท่านทั้งหลายพึงถามเหตุนี้กับเราต่อหน้าอาจารย์ของท่านเถิด"

มาณพเหล่านั้นจึงพาแพะนั้นไป  แล้วบอกเหตุนี้แก่อาจารย์
อาจารย์ได้ฟังคำของมาณพเหล่านั้นแล้ว  ถามแพะว่า
"แพะเอ๋ย  เพราะเหตุไรท่านจึงหัวเราะ
และเพราะเหตุไรท่านจึงร้องไห้"

แพะหวนระลึกถึงกรรมที่ตนกระทำด้วยญาณเครื่องระลึกชาติได้
จึงกล่าวกับพราหมณ์ว่า
"ท่านพราหมณ์
เมื่อก่อน  เราเป็นพราหมณ์ผู้สาธยายมนต์เหมือนกับท่านนั่นแหละ
คิดว่าจักให้มตกภัต  จึงได้ฆ่าแพะตัวหนึ่งแล้วให้มตกภัต

เพราะเราฆ่าแพะตัวหนึ่ง
เราจึงถูกตัดศีรษะใน ๔๙๙ อัตภาพ
อัตภาพนี้เป็นอัตภาพสุดท้ายที่ ๕๐๐ ของเรา

เราเกิดความโสมนัสว่า  วันนี้เราจักพ้นจากทุกข์เห็นปานนี้
ด้วยเหตุนี้  เราจึงหัวเราะ

จากนั้น  เราร้องไห้  เพราะเกิดความกรุณาในท่าน
ด้วยคิดว่าเราต้องถูกตัดศีรษะถึง ๕๐๐ ชาติเพราะฆ่าแพะตัวหนึ่ง
และกำลังจักพ้นจากทุกข์นั้นในวันนี้
แต่พราหมณ์ผู้นี้ฆ่าเราแล้วจักถูกตัดศีรษะถึง ๕๐๐ ชาติเหมือนเรา"

พราหมณ์ฟังแล้ว  จึงกล่าวว่า
"แพะเอ๋ย  ท่านอย่ากลัวเลย  เราจะไม่ฆ่าท่านล่ะ"

แพะกล่าวว่า
"ท่านพราหมณ์  ท่านจะฆ่าก็ดี  ไม่ฆ่าก็ดี  วันนี้เราก็ไม่อาจพ้นจากความตายไปได้"

พราหมณ์กล่าวว่า
"แพะเอ๋ย  ท่านไม่ต้องกลัว
พวกเราจักทำการอารักขาท่าน  จักคุ้มครองท่านอย่างดี"

แพะกล่าวว่า
"ท่านพราหมณ์
อารักขาของท่านมีประมาณน้อย
ส่วนบาปที่เรากระทำมีกำลังมาก"

พราหมณ์ให้ปล่อยแพะแล้วกล่าวว่า
"เราจักไม่ให้แม้ใคร ๆ ฆ่าแพะตัวนี้"
จึงพาพวกอันเตวาสิกเที่ยวไปกับแพะนั่นแหละ

แพะพอเขาปล่อยเท่านั้น  ก็ชะเง้อคอเริ่มจะกินใบไม้ซึ่งอาศัยหลังแผ่นหินแห่งหนึ่งเกิดอยู่
ทันใดนั้นเอง  ฟ้าก็ผ่าลงที่หลังแผ่นหินนั้น
สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งแตก  ตกลงที่คอแพะซึ่งชะเง้ออยู่  ตัดศีรษะขาดไป

มหาชนได้แห่กันมาชุมนุมในที่นั้น

ในกาลนั้น
พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในที่นั้น
พระโพธิสัตว์นั้นเมื่อมหาชนเห็นอยู่นั่นแล  นั่งขัดสมาธิในอากาศด้วยเทวานุภาพ  กล่าวว่า
       "ถ้าเหล่าสัตว์พึงรู้อย่างนี้ว่า
การเกิดและสมภพนี้เป็นทุกข์
สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์
เพราะผู้ฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก"

ระโพธิสัตว์แสดงธรรมโดยชี้ให้เห็นภัยในนรกอย่างนี้แล้ว
มนุษย์ทั้งหลายฟังธรรมเทศนานั้นแล้ว  กลัวภัยในนรก
พากันงดเว้นจากปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์)  ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕  กระทำบุญมีทานเป็นต้น
หลังจากตาย  ได้ไปบังเกิดในสวรรค์

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสจบลงแล้ว
ทรงประชุมชาดกว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
สมัยนั้น  เราได้เป็นรุกขเทวดา  ฉะนี้แล"


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พยสนสูตร (อังคุตตรนิกาย > ปัญจกนิบาต > ตติยปัณณาสก์ > คิลานวรรค)

กาลียักขินีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > ยมกวรรค)

ปฏาจาราเถรีวัตถุ (ขุททกนิกาย > ธรรมบท > สหัสสวรรค)